วันจันทร์ที่ 18 มิถุนายน พ.ศ. 2555

ทุ่งมะขามหย่อง..จากโบราณกาลถึงปัจจุบันกาล


ณ เวลานี้ ถ้ามีใครเอ่ยถึง "  ทุ่งมะขามหย่อง"   คงไม่มีใครไม่รู้จัก ด้วยว่า

วันที่ 25 พฤษภาคม 2555 เวลา 16.45 น.พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จลงจากที่ประทับชั้น 16 อาคารเฉลิมพระเกียรติ โรงพยาบาลศิริราช พร้อมด้วยสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ และสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เพื่อประทับรถยนต์พระที่นั่งเสด็จพระราชดำเนินไปทรงสักการะพระราชานุสาวรีย์สมเด็จพระสุริโยทัย ทุ่งมะขามหย่อง ตำบลบ้านใหม่ อำเภอพระนครศรีอยุธยา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เป็นการส่วนพระองค์ ท่ามกลางเหล่าพสกนิกรเฝ้ารอรรับเสด็จและร่วมร้องถวายพระพรอย่างกึก้องตลอดเส้นทาง ผู้เขียนไม่มีโอกาสเดินทางไปเฝ้ารอรับเสด็จเพราะมีภารกิจ แต่เฝ้าติดตามข่าวสารเป็นระยะด้วยความปลื้มปิติผ่านอินเตอร์เนตเป็นระยะ และประชากรคนไทยทั่วทั้งประเทศคงได้ติดตามข่าวสารหน้าจอโทรทัศน์ด้วยความปลื้มปิติเช่นเดียวกัน

"ทุ่งมะขามหย่อง"   พื้นที่ประวัติศาสตร์ที่ผูกพันกับชาวไทยมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา เป็นสมรภูมิรบสำคัญในสมัยอยุธยา ที่ถูกจารึกลงในประวัติศาสตร์ ถึงการเสียสละครั้งยิ่งใหญ่ของวีรสตรีไทย " สมเด็จพระศรีสุริโยทัย"   ที่ทรงสละชีพเพื่อปกป้องแผ่นดินไทยในการรบกับพม่าเมื่อปี พ.ศ.2091 ตั้งอยู่ในตำบลภูเขาทอง อำเภอเมือง จังหวัดพระนครศรีอยุธยา กินพื้นที่ประมาณ 250 ไร่ มีพระราชานุสาวรีย์ช้างทรงของสมเด็จพระสุริโยทัย และนักรบจาตุรงคบาท ตั้งอยู่บนเกาะกลางน้ำ ซึ่งอนุสรณ์สถานแห่งนี้มีโครงการถูกจัดสร้างขึ้น เพื่อเป็นการเทิดพระเกียรติให้กับสมเด็จพระศรีสุริโยทัย และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ในวาระมหามงคลพระชนมพรรษาครบ 5 รอบ ในปี พ.ศ.2535 ด้วย สถานที่แห่งนี้จึงมีชื่อเรียกอย่างเป็นทางการว่า  " พระราชานุสาวรีย์สมเด็จพระศรีสุริโยทัย"   โดยอนุสถานแห่งนี้เกิดขึ้นตั้งแต่สมัย พลเอก เปรม ติณสูลานนท์ เป็นนายกรัฐมนตรี โดยในวันที่ 21 มิถุนายน 2531 คณะรัฐมนตรีในสมัยนั้นได้มีมติเห็นชอบให้ดำเนินการจัดสร้าง โดยมอบหมายให้กระทรวงมหาดไทยเป็นผู้รับผิดชอบ ต่อมาได้มีการเปลี่ยนแปลงรัฐบาล จนกระทั่งสมัย พลเอก อิสระพงศ์ หนุนภักดี เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ได้มอบหมายให้กรมโยธาธิการ (ชื่อในขณะนั้น) ได้ดำเนินการออกแบบวางผังก่อสร้างเพื่อเสนอต่อ นาย อานันท์ ปันยารชุน นายกรัฐมนตรีเพื่อขอรับความเห็นชอบ และได้ลงนามเห็นชอบ และแต่งตั้งคณะกรรมการจัดสร้างพระราชานุสาวรีย์สมเด็จพระสุริโยทัย เมื่อ วันที่ 4 กรกฎาคม 2534 ส่วนองค์พระราชานุสาวรีย์และประติมากรรมภายในพระราชานุสาวรีย์สมเด็จพระสุริโยทัยนั้น ออกแบบและปั้นรูปโดย คุณไข่มุกด์ ชูโต



ทุ่งมะขามหย่อง  อีกด้านหนึ่งที่เกี่ยวข้องกับประวัติศาสตร์ ความสำคัญเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ คือเชื่อกันว่าพื้นที่ด้านตะวันตกของอยุธยานี้ ในสมัยก่อนเป็นพื้นที่ที่ข้าศึกเมื่อยกทัพมามักจะมีการตั้งค่ายในบริเวณที่ราบบริเวณนี้ จนฤดูน้ำหลากจึงจะล่าถอยออกไป รวมทั้งการทำยุทธหัตถีในสมัยสมเด็จพระนเรศวรมหาราชด้วย ทำให้ทางกระทรวงมหาดไทยได้ดำเนินการขยายพื้นที่ส่วนพระราชานุสาวรีย์ออกไป และได้จัดสร้างพระราชานุสาวรีย์สมเด็จพระนเรศวรมหาราชในบริเวณนี้เช่นกัน

ทุ่งมะขามหย่อง  เป็นพื้นที่ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เป็นพื้นที่แก้มลิง แก้ไขปัญหาน้ำท่วมในฤดูน้ำหลาก และในฤดูแล้งจะนำน้ำที่กักเก็บไว้ให้เกษตรกรได้ใช้ในการเพาะปลูก เพื่อพสกนิกรชาว จังหวัดพระนครศรีอยุธยา โดยสถานที่สำคัญทั้ง 2 แห่ง ยังบ่งบอกทางประวัติศาสตร์ของ “ทุ่งมะขามหย่อง” และ “ทุ่งภูเขาทอง” ที่ สมเด็จพระศรีสุริโยทัย และ สมเด็จพระนเรศวรมหาราช เคยสู้รบกับพม่า นอกจากนี้ผืนแผ่นดินทั้ง 2 แห่ง จึงได้ตั้งชื่อผืนแผ่นดินทั้ง 2 แห่งนี้ว่า “ผืนแผ่นดินแห่งพระมหากรุณาธิคุณ”

พสกนิกรเฝ้ารอรับเสด็จ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ  และส่งเสียงถวายพระพรอย่างกึกก้อง เมื่อ ๒๕ พฤษภาคม ๒๕๕๕

สำหรับทุ่งมะขามหย่อง มีเนื้อที่ทั้งหมด 250 ไร่ ใช้เป็นอ่างเก็บน้ำ (แก้มลิง) จำนวน 180 ไร่ มีความจุน้ำได้ถึง 2,100,000 ลูกบาศก์เมตร เพื่อใช้ในการป้องกันอุทกภัยที่จะเกิดในอนาคต และยังสามารถนำเอาน้ำที่กักเก็บไว้ ไปใช้เพื่อเกษตรกรรมได้ในฤดูแล้งที่ต้อง การใช้น้ำทุ่งมะขามหย่องยังเป็นสวนสาธารณะที่ประชาชน สามารถมาเที่ยวชมความสวยงามและ เป็นที่พักผ่อนได้ คุณประโยชน์มีมหาศาล

ผืนแผ่นดินไทยแห่งนี้ ตั้งอยู่และแผ่ความเจริญรุ่งเรืองมาจวบจนทุกวันนี้ก็ด้วยพระปรีชาสามารถ และพระอัจฉริยภาพแห่งพระมหากษัติรย์โดยแท้ทีเดียว


ขอบคุณข้อมูล จากวิกิพีเดีย  http://th.wikipedia.org/wiki/พระราชานุสาวรีย์สมเด็จพระสุริโยทัย
และ ครอบครัวข่าว
http://www.krobkruakao.com/ข่าว/56752/ประวัติพระราชานุสาวรีย์สุริโยทัย-ทุ่งมะขามหย่อง.html
http://hilight.kapook.com/view/71156

ขอบคุณภาพจาก 
http://news.sanook.com/gallery/gallery/1119744/282129/ และวิกิพีเดีย



ไม่มีความคิดเห็น: