วันพฤหัสบดีที่ 1 กันยายน พ.ศ. 2554

น้ำพระทัยห่วงใยประชาชนดุจพ่อห่วงใยลูก


หนังสือหลายๆเล่มถูกรื้อออกมากองเรียงรายเพื่อหาข้อมูลอ้างอิง แม้มีข้อมูลมากมายซึ่งหาได้จากอินเตอร์เนตแต่ บางทีก็ต้องการความไม่เหมือนบ้างเช่นกัน


มีใครอีกสักกี่คนยังพอจำเรื่อง..พรุบาเจาะ กันได้บ้างนะ ความจริงแล้วไม่น่าต้องถามถึงพรุบาเจาะ เพียงแต่จะกล่าวถึงเรื่องราวของภาคใต้โดยเฉพาะ ๓ จังหวัดชายแดนใต้ หลายๆคนยังรู้สึกว่า..ไกล อันตราย และน่ากลัว 
พรุบาเจาะ อยู่ในพื้นที่หมู่บ้านชูโว อำเภอบาเจาะ จังหวัดนราธิวาส คนภาคใต้เรียกพรุ..ว่าโพระ ซึ่งหมายถึง แอ่งน้ำขนาดใหญ่เช่นเดียวกับหนองและบึง ซึ่งมีน้ำขังโดยไม่ได้ใช้ประโยชน์
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ภูมิพลอดุลยเดชเคยประทับเฮลิคอปเตอร์จากปัตตานีไปยังจังหวัดนราธิวาส ซึ่งสมัยนั้นยังไม่มีสนามบินบ้านทอน นราธิวาส โดยผ่านแอ่งน้ำพรุหรือโพระบาเจาะนี้ เมื่อถึงนราธิวาส พระเจ้าอยู่หัวก็มีกระแสรับสั่งถามข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ที่เฝ้าฯรับเสด็จทันที ว่าได้ทอดพระเนตรเห็นที่มีน้ำขังเป็นพื้นที่กว้างใหญ่นั้คืออะไร น้ำขังอยู่ทั้งปีหรือไม่
และทรงมีพระราชปรารภว่า "ถ้าหากไขน้ำออกจากพรุบาเจาะได้จะมีที่ให้ประชาชนได้ใช้ทำมาหากินอีกประมาณแสนไร่"   

ฉันตระหนักเสมอว่าประชาชนคนไทยโชคดีที่มีในหลวง 

น้ำพระทัยของในหลวงทรงระลึกถึงประชาชนอยู่ตลอดเวลา หลังจากนั้น พระองค์ทรงศึกษาและทรงพระกรุณาพระราชทานให้กรมชลประทานรับไปพิจารณาว่า จะมีทางไขน้ำออกจากพรุบาเจาะหรือไม่ จากนั้นกรมชลประทานก็ดำเนินงานโดยขุดคลองไขน้ำออกจากพรุ ระบายลงทะเล 
สองปีต่อมาพรุบาเจาะแห้งเป็นพื้นที่ราบ และทำให้ประชาชนมีพื้นที่เพาะปลูก ทำการเกษตรเพิ่มขึ้นอีกประมาณ ๖๐,๐๐๐ ไร่ 
ระหว่างที่กำลังดำเนินงานอยู่นั้นพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเสด็จแล้วเสด็จอีกเพื่อไปทอดพระเนตรและพระราชทานคำแนะนำ ซึ่งรวมไปถึงการให้หน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้อง หาวิธีจัดสรรที่ดินใหม่ เพื่อให้ประชาชนได้รับประโยชน์อย่างเป็นธรรม
ซึ่งปัจจุบัน ถ้าถามถึงพรุบาเจาะ คงไม่มีคนรู้จักนอกจากผู้เฒ่าผู้แก่ที่ยังอยู่

พรุบาเจาะ เป็นอีกหนึ่งในพระราชกรณียกิจที่แสดงให้เห็นถึงน้ำพระทัย ความห่วงใยประชาชน
ดุจพ่อห่วงใยลูก

ขอบคุณข้อมูล"พรุบาเจาะ"จากหนังสือ รอยพระยุคลบาท
บันทึกความทรงจำของ พล.ต.อ.วศิษฐ์ เดชกุญชร

ข้อมูลเพิ่มเติม
โครงการระบายน้ำพรุบาเจาะ จังหวัดนราธิวาส  เริ่มเมื่อ พ.ศ.๒๕๑๗ เสร็จสิ้นในปี พ.ศ.๒๕๒๔ สามารถจัดสรรที่ดินได้มากถึง ๑๑๙,๐๐๐ ไร่ รับผิดชอบโครงการโดยกรมชลประทาน

ไม่มีความคิดเห็น: