วันจันทร์ที่ 5 กันยายน พ.ศ. 2554

ทฤษฎีแกล้งดิน"เปรี้ยว"ของในหลวง




"ทฤษฎีแกล้งดิน" ฟังแปลกๆ รู้สึกแปลกๆ ทำไมต้องแกล้งดิน เคยมีคนตั้งคำถามกับผู้เขียนว่า ดินเป็นอะไร ทำไมต้องแกล้งดิน ผู้เขียนตอบไม่ได้ และยังไม่มีคำตอบให้เขาจนวันนี้ 

ตอนเด็กๆ เคยนั่งรถผ่านผืนดิน ทุ่งกว้างไกลสุดตา ฤดูฝนน้ำท่วม ฤดูไม่มีฝนก็เป็นทุ่งหญ้า มีต้นไม้ใหญ่อยู่บ้างเป็นประปราย เคยถามพ่อ(ของผู้เขียน)ว่าทำไมที่บริเวณนี้ถึงว่างเปล่า เหมือนเป็นทุ่งนา แต่ไม่เคยเห็นปลูกข้าว พ่อบอกว่า ดินเปรี้ยวปลูกอะไรไม่ได้หรอก (ช่วงระหว่างตำบลบ่อทอง อ.หนองจิก กระทั่งถึงตำบลตุยง อำเภอหนองจิก จังหวัดปัตตานี)

ทำไมดินเปรี้ยว??
ดินเปรี้ยวเพราะเป็นดินที่มีอินทรียวัตถุคือรากพืชเน่าเปื่อยอยู่ข้างบน และในระดับความลึกประมาณ 1-2 เมตร มีลักษณะเป็นดินเลนสีเทาปนน้ำเงินซึ่งมีสารประกอบไพไรต์หรือกำมะถันอยู่มาก ดังนั้น เมื่อดินแห้ง กรดกำมะถันก็จะทำปฏิกิริยากับอากาศทำให้แปรสภาพเป็นดินเปรี้ยวจัด


ซึ่งหลังจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ เสด็จฯ เยี่ยมราษฎรในเขตจังหวัดนราธิวาส เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๒๔ ทรงพบว่า ดินในพื้นที่พรุ หรือโพระ ที่มีการชักน้ำออก เพื่อจะนำที่ดินมาใช้ทำการเกษตรนั้น แปรสภาพเป็นดินเปรี้ยวจัด ทำให้เพาะปลูกไม่ได้ผล จึงมีพระราชดำริให้ส่วนราชการต่าง ๆ พิจารณาหาแนวทางในการปรับปรุงพื้นที่พรุที่มีน้ำแช่ขังตลอดปีให้เกิดประโยชน์ในทางการเกษตรมากที่สุดและให้คำนึงถึงผลกระทบต่อระบบนิเวศน์ด้วย 

ดังนั้นศูนย์ศึกษาการพัฒนาพิกุลทองอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จึงได้ดำเนินการสนองพระราชดำริโครงการ " แกล้งดิน " เพื่อศึกษาการเปลี่ยนแปลงความเป็นกรดของดิน 


เริ่มจากวิธีการ " แกล้งดินให้เปรี้ยว " คือทำให้ดินแห้งและเปียกสลับกันไป เพื่อเร่งปฏิกิริยาทางเคมีของดิน ซึ่งจะไปกระตุ้นให้สารไพไรท์ทำปฏิกิริยากับออกซิเจนในอากาศ ปลดปล่อยกรดกำมะถันออกมา ทำให้ดินเป็นกรดจัดจนถึงขั้น " แกล้งดินให้เปรี้ยวสุดขีด " จนกระทั่งถึงจุดที่พืชไม่สามารถเจริญงอกงามได้ จากนั้นจึงหาวิธีการปรับปรุงดินดังกล่าวให้สามารถปลูกพืชได้ วิธีการแก้ไขปัญหาดินเปรี้ยวจัดตามแนวพระราชดำริ คือควบคุมระดับน้ำใต้ดิน เพื่อป้องกันการเกิดกรดกำมะถัน จึงต้องควบคุมน้ำใต้ดินให้อยู่เหนือชั้นดินเลนที่มีสารไพไรท์อยู่ เพื่อมิให้สารไพไรท์ทำปฏิกิริยากับออกซิเจนหรือถูกออกซิไดซ์

จากการทดลอง ทำให้พบว่า วิธีการปรับปรุงดินตามสภาพของดินและความเหมาะสม
มีอยู่ ๓ วิธีการด้วยกัน คือ
1. ควบคุมระดับน้ำใต้ดิน เพื่อป้องกันการเกิดกรดกำมะถัน จึงต้องควบคุมน้ำใต้ดินให้อยู่เหนือชั้นดินเลนที่มีสารไพไรท์อยู่ เพื่อมิให้สารไพไรท์ทำปฏิกิริยากับออกซิเจนหรือถูกออกซิไดซ์ 

2.การปรับปรุงดิน มี 3 วิธีการ ตามสภาพของดินและความเหมาะสม 
คือใช้น้ำชะล้างความเป็นกรด เมื่อล้างดินเปรี้ยวให้คลายลงแล้วดินจะมีค่า pH เพิ่มขึ้นอีกทั้งสารละลายเหล็กและอลูมินั่มที่เป็นพิษเจือจางลงจนทำให้พืชสามารถเจริญเติบโตได้ดี โดยเฉพาะถ้าหากใช้ปุ๋ยไนโตรเจนและฟอสเฟตก็สามารถให้ผลผลิตได้
การใช้ปูนผสมคลุกเคล้ากับหน้าดิน เช่น ปูนมาร์ล ปูนฝุ่นซึ่งปริมาณของปูนที่ใช้ขึ้นอยู่กับความรุนแรงของความเป็นกรดของดิน
การใช้ปูนควบคู่ไปกับการใช้น้ำชะล้างและควบคุมระดับน้ำใต้ดิน เป็นวิธีการที่สมบูรณ์ที่สุดและใช้ได้ผลมากในพื้นที่ซึ่งดินเป็นกรดจัดรุนแรง และถูกปล่อยทิ้งเป็นเวลานาน


3. การปรับสภาพพื้นที่ มีอยู่ 2 วิธี คือ
การปรับระดับผิวหน้าดิน ด้วยวิธีการ คือ
ปรับระดับผิวหน้าดินให้มีความลาดเอียง เพื่อให้น้ำไหลไปสู่คลองระบายน้ำ
ตกแต่งแปลงนาและคันนาใหม่ เพื่อให้เก็บกักน้ำและระบายน้ำออกไปได้
การยกร่องปลูกพืช สำหรับพืชไร่ พืชผัก ไม้ผล หรือไม้ยืนต้นที่ให้ผลตอบแทนสูง ถ้าให้ได้ผลต้องมีแหล่งน้ำชลประทานเพื่อขังและถ่ายเทน้ำได้เมื่อน้ำในร่องเป็นกรดจัด การยกร่องปลูกพืชยืนต้นหรือไม้ผล ต้องคำนึงถึงการเกิดน้ำท่วมในพื้นที่นั้น หากมีโอกาสเสี่ยงสูงก็ไม่ควรทำ หรืออาจยกร่องแบบเตี้ย ๆ พืชที่ปลูกเปลี่ยนเป็นพืชล้มลุกหรือพืชผัก และควรปลูกเป็นพืชหมุนเวียนกับข้าวได้

ด้วยพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ภูมิพล อดุลยเดช จึงทำให้ประชาชนมีพื้นที่เพาะปลูกทำการเกษตรบนผืนดินผืนนาว่างเปล่าเพิ่มขึ้นอีกมากมาย
พระบาทสมเด็จไม่เคยนิ่งเฉยดูดายต่อปัญหาของประชาชน พระองค์ท่านมีสายพระเนตรมองเห็นปัญหาในขณะที่ไม่มีใครมองเห็น พระองค์ทรงงานแก้ไข และติดตามการดำเนินงานของหน่วยงานต่างๆจนกระทั่งประชาชนได้ประโยชน์อย่างแท้จริง

สืบเนื่องด้วยในศุภวาระที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จเถลิงถวัลราชสมบัติครบ 60 ปี คณะรัฐมนตรีจึงได้มีมติเมื่อวันที่ 20 มิถุนายน 2549 เห็นชอบตามที่สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติเสนอเทิดพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเป็น “พระบิดาแห่งนวัตกรรมไทย” จาก “โครงการพระราชดำริแกล้งดิน” ในเขตจังหวัดนราธิวาส และกำหนดให้วันที่ 5 ตุลาคมของทุกปีเป็น “วันนวัตกรรมแห่งชาติ” 
 

คงไม่มากเกินไปใช่ไหม ถ้าประชาชนผู้รักในหลวงทั้งหลายทั้งมวลจะทำอะไรบ้างเพื่อเป็นตอบแทนพระองค์มากกว่าการท่องคาถาเรารักในหลวง


ขอขอบคุณข้อมูลและภาพจาก

1 ความคิดเห็น:

Unknown กล่าวว่า...

พระองค์ดูแลตั้งแต่ระดับดินถึงท้องฟ้าเพื่อพสกนิกรของพระองค์ ทรงพระเจริญยิ่งยืนนาน