วันอังคารที่ 6 ธันวาคม พ.ศ. 2554

ครั้งหนึ่ง..ของชีวิต


ก่อนที่ผู้เขียนมายืนอยู่ในบริเวณลานพระราชบิดา ในโรงพยาบาลศิริราช ผู้เขียนได้ทบทวนถึงกิจกรรมทำเพื่อพ่อที่เคยทำและจะทำต่อไป คุยกับเพื่อนบางคนว่า..บางอารมณ์ไม่อยากไปร่วมกับเพื่อนๆ อยากอยู่เงียบๆ เอ่ยคำจงรักภักดี ถวายพระพรอยู่ในใจหรือผ่านสังคมออนไลน์เช่นทุกๆปี


ครั้นเมื่อไปยืนอยู่หน้าตึกเฉลิมพระเกียรติ ลานพระราชบิดา พนมมือแหงนหน้าขึ้นไปยังยอดตึกระลึกอยู่ในใจ ถวายพระพร ขออำนาจสิ่งศักดิ์สิทธิ์ปกป้องคุ้มภัยแด่องค์ภูมินทร์ ทำให้รู้สึกว่าตัดสินใจถูกต้องดีแล้วและจะไม่ให้พลาดโอกาสสำคัญของชีวิตแน่นอน

ท้องฟ้าเริ่มสลัว ผู้คน ประชาชนของพระเจ้าแผ่นดิเริ่มเข้ามาจับจองพื้นที่บริเวณลานราชพระบิดา

สายลมพัดเอาความเย็นมาสัมผัสกาย สัมผัสใจเป็นระลอก

คุยกับประชาชนของพระองค์ซึ่งบ้างก็ว่าเพิ่งมาปีแรก บ้างก็ว่ามาทุกปีจนกระทั่งรู้จักและสนิทกับนายทหารองครักษ์ของพระองค์ บ้างก็มาจากต่างจังหวัด เช่นครอบครัวที่ผู้เขียนนั่งคุยด้วย มาจากจังหวัดอ่างทอง ๓ คนพ่อแม่ลูก มาเป็นปีที่ ๒ แล้ว เล่าว่าปีที่แล้วได้เห็นพระพักตร์ของพระองค์เพียงเล็กน้อยตอนพระองค์ประทับรถและเคลื่อนออกจากรพ.ศิริราช และคราวนี้แม้จะเพิ่งผ่านวิกฤติน้ำท่วมบ้านเขาก็ยังมาอีกเพื่อให้ได้ร่วมถวายพระพรได้เห็นพระพักตร์ของพระองค์อย่างใกล้ชิด ด้วยแววตาที่มุ่งมั่นและมีความจงรักภักดีที่มีต่อในหลวง ผู้เขียนพูดคุยด้วยก็รู้สึกตื้นตันใจเกินจะบรรยาย

สามคนพ่อแม่ลูก มาจากจังหวัดอ่างทอง
เขาทั้งสามคนพ่อแม่ลูก..เฝ้าคอยมองขึ้นไปยังยอดตึกเฉลิมพระเกียรติและพูดคุยกันตลอดเวลา จนกระทั่งเสียงที่ผู้เขียนได้ยิน..ลูกชายพูดว่าห้องปิดไฟแล้ว ท่านคงนอนแล้ว ผู้เขียนจึงแหงนมองตามขึ้นไปไฟบนยอดตึกดับลงแล้วจริงๆ เขาจึงเริ่มเตรียมที่นอนบนเสื่อผืนเล็กๆและผ้าห่มผืนบางๆให้ลูกชาย



ช่วงเวลาใกล้ค่ำ ประชาชนผู้มาพักค้างที่ลานพระราชบิดา ซึ่งมีทั้งพระสงฆ์และแม่ชี ได้ร่วมกันสวดมนต์และถวายพระพรเพื่อถวายเป็นพระราชกุศลแด่องค์สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ผู้เขียนและเพื่อนๆก็เข้าร่วมกิจกรรมกับเขาด้วย ด้วยความรู้สึก..ครั้งหนึ่งในชีวิตจริงๆ เป็นบุญเหลือเกินที่มีโอกาสได้ตอบแทนในพระมหากรุณาธิคุณแด่องค์พ่อแห่งแผ่นดินแม้ไม่ได้แม้เพียงเสี้ยวหนึ่งที่พ่อหลวงได้ทรงทำให้กับคนทั้งแผ่นดิน




ยิ่งดึก ลมพัดแรงอากาศยิ่งหนาว ประชาชนที่มาเฝ้ารอบ้างก็ได้หลับนอนพักผ่อนโดยไร้ความกังวลอื่นใด ซึ่งผู้เขียนได้ยินเขาว่าได้มานอนอยู่ใกล้ๆแบบนี้ก็อุ่นใจสบายใจที่สุดแล้ว บ้างก็คอยเดินตระเวณหาที่หาทางเพื่อได้เข้าไปรอรับเสด็จพระองค์อย่างใกล้ชิดที่สุด เพื่อได้เห็นพระองค์ในระยะใกล้ๆ บ้างก็นั่งพูดนั่งคุยกันในเรื่องเกี่ยวกับพระองค์โดยไม่รู้เบื่อหน่าย








ยามดึกสงัด สายลมยังไม่ลาแรง ด้วยความเหนื่อยอ่อน บ้างก็หลับใหลเอาแรงโดยมีพระองค์ภูมิพลเป็นพ่อผู้คุ้มภัย



ภาพนี้ผู้เขียนเก็บภาพมาด้วยสัมผัสถึงความตั้งใจ ด้วยความจงรักภักดี ด้วยความรักอันยิ่งใหญ่ของประชาชนข้ารองบาทของพระเจ้าแผ่นดินและผู้เขียนมั่นใจว่าเป็นภาพที่สะท้อนถึงความรักออกมาอย่างชัดเจนทีเดียวสำหรับผู้ที่ได้เจอ






บรรยากาศยามเช้าตรู่ อากาศหนาวเพราะแรงลม ผู้คนเริ่มทะยอยกันเข้ามาจับจองพื้นที่ยังมีเหลือหน้าบริเวณตึกแพทยศาสตร์ซึ่งเป็นเส้นทางเข้าออกของขบวนเสด็จจนเต็มพื้นที่ เสียงเพลงสดุดีพ่อหลวงกระหึ่มขึ้นมาเป็นครั้งคราวสลับกับเสียง..ทรงพระเจริญ

บรรยากาศยามเช้าตรู่ วันที่ ๕ ธันวาคม ๒๕๕๔

เวลา ๙.๔๕ น.ทหารองครักษ์ตั้งแถวประจำตำแหน่งเพื่อรักษาความปลอดภัย ประชาชนที่เฝ้ารอต่างชะเง้อรอเพราะเกรงว่าจะพลาดช่วงเวลาสำคัญ ผู้เขียนเองละมือจากกล้องขอไม่ถ่ายภาพในช่วงเวลาที่พระองค์เคลื่อนขบวนออกมา เพราะเกรงว่าพลาดโอกาสได้แลเห็นพระพักตร์ของพระองค์ได้อย่างชัดเจน
เมื่อราชพาหนะของพระองค์ได้เคลื่อนมาใกล้ถึงต่างคนต่างลุกชันเข่าเพื่อได้เห็นพระองค์และกล่าวคำถวายพระพรแด่พระองค์ดังว่าจะให้พระองค์ได้ยินและแลเห็นด้วยเช่นกัน แม้เพียงชั่วเวลาไม่กี่อึดใจ ไม่กี่วินาทีที่ได้แลเห็นผ่านกระจกรถ น้ำตาของความตื้นตันและปลาบปลื้มหล่อรื้นดวงตาเกินจะกลั้นไว้ได้ 

ครั้งแรกและครั้งหนึ่งของชีวิต ครั้งสำคัญที่ผู้เขียนขอจดจำทั้งน้ำตา น้ำตาด้วยความปลาบปลื้มน้ำตาแห่งความสุขที่มีโอกาสได้ชื่นชมพระบารมีของในหลวงของเรา และพระบรมวงศานุวงศ์ทุกพระองค์



ทั้งชาตินี้ ชาติหน้าหรือชาติไหนข้าพระพุทธเจ้าขอน้อมถวายความจงรักภักดีเป็นลูกของพ่อหลวงองค์ภูมิพลสืบไป ขอพระองค์ทรงพระเจริญมีพระชนมายุยิ่งยืนนาน ด้วยเกล้าด้วยกระหม่อมขอเดชะ



วันศุกร์ที่ 2 ธันวาคม พ.ศ. 2554

พระราชดำรัส พระบรมราโชวาทเกี่ยวกับครู


  พระราชดำรัส พระบรมราโชวาท ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระราชทานแก่คณะครู

 “ ถ้าครูไม่ห่วงประโยชน์ที่ควรจะห่วง หันไปห่วงอำนาจ ห่วงตำแหน่ง ห่วงสิทธิ์ และห่วงรายได้กันมากเข้า ๆ แล้ว จะเอาจิตเอาใจที่ไหน มาห่วงความรู้ ความดี ความเจริญของเด็ก
ความห่วงในสิ่งเหล่านั้น ก็จะค่อย ๆ บั่นทอนทำลายความเป็นครูไปจนหมดสิ้น จะไม่มีอะไรเหลือไว้ พอที่ตัวเองจะภาคภูมิใจ หรือผูกใจใครไว้ได้ ความเป็นครูก็จะไม่มีค่าเหลืออยู่ให้เป็นที่เคารพบูชาอีกต่อไป ”

             พระราชดำรัสแก่ครูอาวุโส ในโอกาสเข้าเฝ้าฯ วันเสาร์ ที่ ๒๑ ตุลาคม ๒๕๒๑


            “......ครูที่แท้จริงนั้นต้องเป็นผู้ทำแต่ความดี คือ ต้องหมั่นขยันและอุตสาหะพากเพียร ต้องเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่และเสียสละ ต้องหนักแน่นอดทน และอดกลั้น สำรวม ระวังความประพฤติปฏิบัติของตน ให้อยู่ในระเบียบ แบบแผนที่ดีงาม รวมทั้งต้องซื่อสัตย์ รักษาความจริงใจ วางใจเป็นกลาง ไม่ปล่อยไปตามอำนาจอคติ…...”

             พระราชดำรัส พระราชทานแก่ครูอาวุโส ๒๘ ตุลาคม ๒๕๒๓


                 “.....ครูจะต้องตั้งใจในความดีอยู่ตลอดเวลา แม้จะเหน็ดเหนื่อย เท่าไรก็จะต้องอดทน
เพื่อพิสูจน์ว่าครูนี้เป็นที่เคารพสักการะได้ แต่ถ้าครูไม่ตั้งตัวในศีลธรรม ถ้าครูไม่ทำตัวเป็นผู้ใหญ่
 เด็กจะเคารพได้อย่างไร……”   
          
พระบรมราโชวาท พระราชทานแก่คณะครู โรงเรียนราษฎร์ทั่วราชอาณาจักร ณ ศาลาผกาภิรมย์ ๘ พฤษภาคม ๒๕๑๓

               “...ครูนั้นจะต้องให้ความรู้แก่เด็ก ๆ ด้วยความเมตตา ด้วยความหวังดี คือ ด้วยความเมตตาต่อผู้ที่เป็นลูกศิษย์ และด้วยความหวังดีต่อส่วนรวม เพราะถ้าส่วนรวมประกอบด้วยบุคคล ที่มีความรู้ดี ส่วนรวมก็ไปรอด....”

               พระบรมราโชวาท พระราชทานแก่คณะ อาจารย์และนักเรียนโรงเรียนวังไกลกังวล ณ พระราชวังไกลกังวล หัวหิน ๒๗ พฤษภาคม ๒๕๑๓




                 “…… ผู้ที่เป็น ครู จะต้องนึกถึงความรับผิดชอบ เพราะว่าถ้าเป็นครูแล้ว ลูกศิษย์จะต้องนับถือได้ ต้องวางตัวให้เหมาะสมกับที่เป็นครู ไม่ใช่วางตัวอย่างหนึ่งแล้วมาสอนอีกอย่างหนึ่ง ….”

                 พระราชดำรัส พระราชทานเนื่องในวันการศึกษาสัมพันธ์ ณ วิทยาลัยวิชาการศึกษาประสานมิตร ๑๕ มีนาคม ๒๕๑๒


                   “... ผู้ที่เป็นครูอาจารย์นั้น ใช่ว่าจะมีแต่ความรู้ในทางวิชาการและในทางการสอนเท่านั้นก็หาไม่ จะต้องรู้จักอบรมเด็กทั้งในด้านศีลธรรม จรรยาและวัฒนธรรม รวมทั้งให้มีความสำนึกรับผิดชอบในหน้าที่ด้วย…. ”

                  พระบรมราโชวาท ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตร วิทยาลัยวิชาการศึกษา 
๑๕ ธันวาคม ๒๕๐๓       

           
                    “...มหาวิทยาลัย มุ่งสั่งสอนนักศึกษาให้เป็นคนเก่ง ซึ่งเป็นการดี แต่นอกจากจะสอนให้เก่งแล้ว จำเป็นอย่างยิ่ง ที่จะอบรมให้ดีพร้อมกันไปด้วย ประเทศเราจึงจะได้คนที่มีคุณภาพพร้อมคือ ทั้งเก่งและทั้งดีมาเป็นกำลัง ของบ้านเมือง…. ”   
             
                    พระบรมราโชวาท พระราชทานแก่คณะผู้บริหาร และสภาคณาจารย์มหาวิทยาลัยต่าง ๆ ณ ศาลาดุสิดาลัย ๓ ตุลาคม ๒๕๓๓


                   “…… การศึกษาเป็นเครื่องอันสำคัญในการพัฒนา ความรู้ ความคิด
ความประพฤติ ทัศนคติ ค่านิยมและคุณธรรมของบุคคล เพื่อให้เป็นพลเมืองดีมีคุณภาพและประสิทธิภาพ เมื่อบ้านเมืองประกอบไปด้วยพลเมืองที่มีคุณภาพและประสิทธิภาพ การพัฒนาประเทศชาติก็ย่อมทำให้ได้โดยสะดวกราบรื่น ได้ผลที่แน่นอนและรวดเร็ว … ”

                   พระราชดำรัส พระราชทานแก่ครูใหญ่ และนักเรียน ณ ศาลาดุสิดาลัย พระราชวังดุสิต ๒๒ กรกฎาคม ๒๕๒๐

                     “...งานด้านการศึกษาเป็นงานสำคัญที่สุดอย่างหนึ่งของชาติ เพราะความเจริญและความเสื่อมของชาตินั้นขึ้น อยู่กับการศึกษาของพลเมืองเป็นข้อใหญ่ จึงต้องจัดการศึกษาให้เข้มแข็งยิ่งขึ้น....”

                พระบรมราโชวาท ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตร ณ วิทยาลัยวิชาการศึกษาประสานมิตร ๑๒ ธันวาคม ๒๕๑๒

ขอบคุณข้อมูล

ขอบคุณภาพจากอินเตอร์เนตและเว็บไซด์เจ้าพระยานิวส์

วันพฤหัสบดีที่ 1 ธันวาคม พ.ศ. 2554

ที่สุดของคน..ผู้มาเยือนและจากไป


สัจธรรม เป็นความจริงในการดำเนินชีวิต หลายๆแง่มุม ที่เรามักจะหลงลืม 
เพราะหลงลมอยู่กับภาพมายาที่ผ่านเข้ามาหลอกล่อให้เราเดินหลงทาง 

บ่อยครั้งที่ผู้เขียนเผลอใจเดินทางผ่านเข้าไปจมจ่อมกับความงดงามของมายาภาพที่ปรุงแต่งด้วยตัวเอง
และจากบุคคลอื่นๆอยู่เสมอ 
แม้บางครั้งสติมาปัญญามี
แต่หลายครั้งทีเดียวที่เดินวนแล้ววนอีก 
สูดดมความหอมหวล
ของกลิ่นที่ปรุงแต่งเองอย่างโง่งม 
กว่าจะรู้ว่าที่แท้มันเป็นกลิ่น
ของดอกอุตพิดก็สายไปแล้ว

น้องชายกัฟ Natapong Parkpean โพสต์เพลงนี้ผ่านFacebook และผู้เขียนก็ผ่านไปฟัง ฟังแล้วก็รู้สึกเศร้า..ความจริงในชีวิตประจำวันของเรา บางครั้งบางคราวเราได้ละเลยที่จะใส่ใจ..และลืมตัว

เนื้อเพลง ที่สุดของคน

วงล้อเวลา ไม่เคยอ่อนล้าหยุดลง
หมุนวนมั่นคง ดำรงอยู่ตลอดมา
ทุกยามค่ำคืน หลายคนยังคอยตื่นตา
รอแสงจากฟ้า ไล่เงามัวพร่าในใจ
ที่สุดของคน ในสายตาของพระเจ้า
ชีวิตเหน็บหนาว และช่างแสนสั้นเกินไป
คล้ายดังธุลี จากโคนหญ้าถึงปลายใบ
ลมจะพัดไป ยังแห่งหนใดไม่รู้ทิศทาง
แม้อำนาจวาสนา พาชื่อเสียงลอยเด่นไกล
ก็แค่ฝากความภาคภูมิใจ ไว้ชั่วครั้งคราว
เราเป็นเพียงผู้มาเยือนโลกใบนี้... แล้วจากไป
ไม่มีใคร ครอบครองสิ่งใด... ได้จริง
ท้ายสุดของคน ที่วนในล้อเวลา
แลกด้วยน้ำตา กับราคาของความเดียวดาย
คงไม่เนิ่นนาน ฉันจะปลดเกลียวสุดท้าย
ที่ควั่นจะคลาย และเพลงบทนี้จะไม่ยืดยาว



ด้วยเนื้อเพลงและอารมณ์ที่พาไปพร้อมกับทำนอง ดนตรี ชวนให้รู้สึกเศร้าในใจ 

ชีวิตเหน็บหนาว และช่างแสนสั้นเกินไป
คล้ายดังธุลี จากโคนหญ้าถึงปลายใบ
ลมจะพัดไป ยังแห่งหนใดไม่รู้ทิศทาง
แม้อำนาจวาสนา พาชื่อเสียงลอยเด่นไกล
ก็แค่ฝากความภาคภูมิใจ ไว้ชั่วครั้งคราว
เราเป็นเพียงผู้มาเยือนโลกใบนี้... แล้วจากไป
ไม่มีใคร ครอบครองสิ่งใด... ได้จริง


เมื่อเราเกิดมา เราก็มาตัวเปล่า 
แล้วเราก็ปรุงแต่งให้ตัวเองดูดีด้วยการใส่หัวโขนแสดงบทบาทไปตามหน้าที่
บ่อยครั้งที่เรา..ลืมตัว หลงตัว หลงรูป หลงในอำนาจ ชื่อเสียงและทรัพย์ของตัวเอง 
หลงลืมว่า..เกิดขึ้น ตั้งอยู่ และดับไป

หลงลืมว่า ภาพมายาคติเหล่านั้นเป็นทั้งมิตรและศัตรู

และที่สุดเราก็จะจากกัน บางครั้งจากไปทั้งที่ยังมีลมหายใจ
บางครั้ง..ลมหายใจหมดลงและบอกลากันไปคนละทาง
ทิ้งไว้แต่ซากของชีวิต


 ...ท้ายสุดของคน ที่วนในล้อเวลา
 แลกด้วยน้ำตา กับราคาของความเดียวดาย
 คงไม่เนิ่นนาน ฉันจะปลดเกลียวสุดท้าย
 ที่ควั่นจะคลาย และเพลงบทนี้จะไม่ยืดยาว.

พระราชดำรัสเกี่ยวกับความสุขในการดำเนินชีวิต






เนื่องในวโรกาส วันพ่อแห่งชาติ วันที่ ๕ ธันวาคม ๒๕๕๔
แผ่นดินนี้เราจองขอร่วมเผยแพร่พระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ เพื่อถวายเป็นพระราชกุศล
เนื่องในวันคล้ายวันพระราชสมภพแด่องค์ภูมิพล อดุลยเดช


********************************


.จิตใจและความประพฤติที่สะอาดและมีระเบียบ เป็นรากฐานสำคัญของชีวิต ทั้งจิตใจทั้งความประพฤติดังนั้นใช่จะเกิดมีขึ้นเองได้ หากแต่จำต้องฝึกหัดอบรมและสนับสนุนส่งเสริมกันอย่างจริงจังสม่ำเสมอ นับตั้งแต่บุคคลเกิด ดังที่มนุษย์ไม่ว่าชาติใดภาษาใดได้เฝ้าพยายามกระทำสืบต่อกันมาทุกยุคทุกสมัย ทั้งนี้เพื่อให้สามารถรักษาตัวและมีความสุขความสำเร็จในการครองชีวิต ทั้งให้ สามารถอยู่ร่วมกับผู้อื่นได้ด้วยความผาสุกสงบ ดังนั้น ถึงแม้เราจะอยู่ใน ท่ามกลางความเจริญรุดหน้าแห่งยุคปัจจุบันอย่างไร เราก็ทอดทิ้งการศึกษา ทางด้านจิตใจและศีลธรรมจรรยาไปไม่ได้ ตรงข้าม เราควรเอาใจใส่สั่งสอนกันให้หนักแน่นทั่วถึงยิ่งขึ้น เพื่อให้มีความคิดความเข้าใจถูกต้องสอดคล้องกับสภาพการณ์แวดล้อมทั้งหลายที่วิวัฒนาไปไม่หยุดยั้ง. . .

พระราชดำรัส
พระราชทานเพื่อเชิญไปอ่านในพิธีเปิดสัมมนา เรื่อง "การพัฒนาสังคมในด้านศีลธรรมและจิตใจ"
ซึ่งสภาสังคมสงเคราะห์แห่งประเทศไทยจัดให้มีขึ้น
ณ โรงแรมนารายณ์ กรุงเทพมหานคร
วันเสาร์ที่ ๑๕ ธันวาคม ๒๕๑๖


.การศึกษาเป็นเรื่องใหญ่และสำคัญยิ่งของมนุษย์ คนเราเมื่อเกิดมาก็ได้รับการสั่งสอนจากบิดามารดา อันเป็นความรู้เบื้องต้น เมื่อเจริญเติบโตขึ้นก็เป็นหน้าที่ของครูและอาจารย์สั่งสอนให้ได้รับวิชาความรู้สูง และอบรมจิตใจให้ถึงพร้อมด้วยคุณธรรม เพื่อจะได้เป็นพลเมืองดีของชาติสืบต่อไป. . .

พระบรมราโชวาท
ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรแก่นิสิตและนักศึกษาวิทยาลัยวิชาการศึกษา
วันพฤหัสบดีที่ ๑๓ ธันวาคม ๒๕๐๕


สังคมและบ้านเมืองใดให้การศึกษาที่ดีแก่เยาวชนได้อย่างครบถ้วนล้วนพอเหมาะกันทุกๆ ด้าน
สังคมและบ้านเมืองนั้นก็จะมีพลเมืองที่มีคุณภาพ 
ซึ่งสามารถธำรงรักษาความเจริญมั่นคงของประเทศชาติไว้ และพัฒนาให้ก้าวหน้า ต่อไปได้โดยตลอด 
ผู้มีหน้าที่จัดการศึกษาทุกๆ คนจึงต้องถือว่า 
ตัวของท่านมีความรับผิดชอบต่อชาติบ้านเมืองอยู่อย่างเต็มที่ ในอันที่จะต้องปฏิบัติหน้าที่ให้เที่ยงตรง 
ถูกต้อง สมบูรณ์โดยเต็มกำลัง จะประมาทหรือละเลยมิได้ 
เพราะถ้าปฏิบัติให้ผิดพลาดบกพร่องไปด้วยประการใดๆ ผลร้ายอาจเกิดขึ้นแก่ส่วนรวม
และประเทศชาติได้มากมาย ทุกฝ่ายจะต้องร่วมกันสร้างเสริมรากฐานชีวิตอันแข็งแรงสมบูรณ์ให้แก่เยาวชน ทั้งในด้านร่างกาย จิตใจ และความรู้ความฉลาด 
สำคัญที่สุด จะต้องฝึกฝนอบรมให้รู้จักผิดชอบชั่วดี รู้จักตัดสินใจด้วยเหตุผล และรู้จักสร้างสรรค์ตามแนวทางที่สุจริตยุติธรรม. . .

พระบรมราโชวาท
พระราชทานแก่คณะครูและนักเรียนที่ได้รับพระราชทานรางวัลฯ
ณ ศาลาดุสิดาลัย
วันจันทร์ที่ ๒๗ กรกฎาคม ๒๕๒๔


ความเจริญนั้น ต้องพร้อมด้วยเครื่องมือเครื่องใช้ประการหนึ่ง วิชาความรู้ประการหนึ่ง
และจิตใจสูงประการหนึ่งคือถ้าเราต้องการจะทนุบำรุง ส่งเสริมกำลังของเราให้เข้มแข็ง 
เมื่อเรามีเงิน ก็จะจัดซื้อหาเครื่องอาวุธยุทโธปกรณ์ นานาชนิดที่มีคุณภาพดี 
มาเพิ่มพูนให้มากยิ่งขึ้นเพียงใด ก็ย่อมจะทำได้ หรือถ้าเราต้องการจะส่งเสริม 
สมรรถภาพในทางความรู้ วิทยาการ ใดๆ ให้ทันเทียมกับอารยะประเทศ เราก็จัดส่งคนของเรา 
ให้ออกไปศึกษาค้นคว้า และหาอุปกรณ์ต่างๆ ประกอบวิทยาการแผนใหม่ๆ 
ในต่างประเทศเพื่อนำมาใช้ปรับปรุงส่งเสริมสมรรถภาพของเรา ให้เจริญเทียมทันเขาได้ 
ซึ่งความเจริญดั่งกล่าวมาแล้วนี้ เราสามารถจะซื้อหาด้วยเงินได้ แต่ความเจริญทางจิตใจนั้น 
เราจะซื้อด้วยเงิน เป็นจำนวนเท่าใดๆ ไม่ได้ ความเจริญทางจิตใจนี้ จึ่งเป็นสิ่งสำคัญยิ่งนัก 
เพราะเป็นหน้าที่ของแต่ละคน ที่จะต้องทำตัวของตนเองให้ดี เพื่อประโยชน์ของส่วนรวม. . .

พระบรมราโชวาท
ในวันพิธีสวนสนาม และพระราชทานธงชัยประจำกองโรงเรียนตำรวจภูธร ภาค ๔


ท่านทั้งหลายควรจักได้เตรียมตัวเตรียมใจให้พร้อม ที่จะปฏิบัติงานประสานกับบุคคลอื่นฝ่ายอื่นอย่างขะมักเขม้นและฉลาดเหมาะสม. ในการนี้ ท่าน จะต้องทำความคิดและจิตใจให้เปิดกว้าง แต่หนักแน่น มีเหตุผล มีวิจารณญาณ. พร้อมกันนั้น ก็ต้องมีความจริงใจ เห็นใจ และเมตตาปรองดองกัน โดยถือประโยชน์ส่วนรวมร่วมกันเป็นวัตถุประสงค์เอก. ที่สำคัญอีกข้อหนึ่ง จะต้องพยายามขจัดความดื้อรั้น ถือตัว ความเห็นแก่ตัว เห็นแก่ประโยชน์ส่วนน้อยออกให้ได้ ไม่ปล่อยให้เข้ามาครอบงำทำลายความคิดจิตใจที่ดีงามของตน. แล้วท่านจะสามารถปฏิบัติการงานทุกอย่างได้ด้วยความราบรื่น เบิกบานใจ อย่างมี ประสิทธิภาพ และประสบผลสำเร็จตามที่ปรารภปรารถนาทุกสิ่งในที่สุด. . .

พระบรมราโชวาท
ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตร แก่บัณฑิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ณ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
วันเสาร์ที่ ๑๒ กรกฎาคม ๒๕๒๙

.ในชีวิตทุกวันๆ ก็ได้มีโอกาสเข้าโรงเรียน ก็หาความรู้ แล้วมีโอกาสที่จะได้เห็นชีวิตของตัวเองและของคนอื่น ขอให้ถือว่าเป็นอาหารทั้งนั้น เป็นอาหารสมอง และเมื่อได้รับอาหารแล้ว ให้ไปพิจารณา คือไปไตร่ตรอง ไปคิดให้ดี ถ้าทำเช่นนี้แล้ว ทุกคนจะสามารถที่จะสร้างตัวเองให้แข็งแรง เพื่อที่จะทำประโยชน์แก่ตนเอง สร้างบ้านเมือง สร้างท้องที่ของตัว สร้างตนเองให้เจริญตามที่ทุกคนต้องการ. . .

กระแสพระราชดำรัส
พระราชทานแก่คณะเยาวชนชายหญิงจากถิ่นทุรกันดาร
ในเขตปฏิบัติการของหน่วยพัฒนาการเคลื่อนที่ต่างๆ รวม ๒๔ จังหวัด พร้อมด้วยพี่เลี้ยงและเจ้าหน้าที่
ณ ศาลาดุสิดาลัย พระราชวังดุสิต
วันศุกร์ที่ ๖ เมษายน ๒๕๑๖

ขอบคุณข้อมูลและภาพจากเว็บไซด์ 

วันพุธที่ 30 พฤศจิกายน พ.ศ. 2554

พระราชดำรัสเกี่ยวกับน้ำ



เนื่องในวโรกาส วันพ่อแห่งชาติ วันที่ ๕ ธันวาคม ๒๕๕๔
ผู้เขียนแผ่นดินนี้เราจองขอร่วมเผยแพร่พระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ เพื่อถวายเป็นพระราชกุศลเนื่องในวันคล้ายวันพระราชสมภพแด่องค์ภูมิพล อดุลยเดช



พระราชปณิธานสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์บรมราชินีนาถฯ
พระเจ้าอยู่หัวฯเป็นน้ำฉันจะเป็นป่า 
ป่าที่ถวายความจงรักภักดีต่อน้ำ 
              พระเจ้าอยู่หัวสร้างอ่างเก็บน้ำ    ฉันจะสร้างป่า
**************************************************************

“... วันนี้ก็ขอพูดขออนุญาตที่จะพูด เพราะว่าอั้นมาหลายปีแล้ว เคยพูดมาหลาย ปีแล้ว ในวิธีที่จะปฏิบัติเพื่อที่จะให้มีทรัพยากรน้ำเพียงพอและเหมาะสม คำว่า “พอเพียง” ก็หมายความว่า ให้มีพอในการบริโภคในการใช้ ทั้งในด้านการบริโภคในบ้าน ทั้งในการใช้ เพื่อการเกษตรกรรม อุตสาหกรรมต้องมีพอ ถ้าไม่มีทุกสิ่งทุกอย่างก็ชะงักลง แล้วทุกสิ่ง ทุกอย่างที่เราภาคภูมิใจ ว่าประเทศเราก้าวหน้าเจริญก็ชะงัก ไม่มีทางที่จะมีความเจริญ ถ้าไม่มีน้ำ ...
...โครงการที่คิดจะทำนี้ บอกได้้ว่าไม่กล้าพูดมาหลายปีแล้ว เพราะเกรงว่าจะมี การคัดค้านจากผู้เชี่ยวชาญ ทั้งเหล่านักต่อต้านโครงการ แต่โครงการนี้ เป็นโครงการอยู่ใน วิสัยที่จะทำได้ ไมจะต้องเสียค่าใช้จ่ายไม่น้อย แต่ถ้าดำเนินไปเดี๋ยวนี้ อีก ๕-๖ ปีข้างหน้า เราสบาย และถ้าไม่ทำ อีก ๕-๖ ปี ข้างหน้า ราคาค่าก่อสร้างค่าดำเนินการก็จะขึ้นไป ๒ เท่า ๓ เท่า ลงท้ายก็ต้องประวิงต่อไป และเมื่อประวิงต่อไป ก็จะไม่ได้ทำ เราก็จะต้องอดน้ำ แน่ จะกลายเป็นทะเลทราย แล้วเราจะอพยพไปที่ไหนก็ไม่ได้ ...

... ปัญหาเรื่องภัยแล้งนี้ ดูจะเป็นปัญหาที่แก้ไขไม่ได้ หมู่นี้ก็พูดกันอย่างขวัญเสียว่า อีกหน่อยจะต้องปันส่วนน้ำ หรือแม้แต่จะต้องตัดน้ำประปา อันนี้สำหรับกรุงเทพฯ ฉะนั้น ต้องหาทางแก้ไขเพื่อแก้ไขปัญหานี้ ได้วางแผนมาเป็นเวลาหลายปีแล้ว ถ้าหากว่าได้ปฏิบัติ ตามแผนนั้นๆ แล้ว วันนี้ก็ไม่ต้องพูดถึงการขาดแคลนน้ำ โครงการโดยเฉพาะนั้นก็มี แล้ว โครงการนั้นได้ยืนยันมาเมื่อเดือนที่แล้ว เมื่ออยู่ที่นราธิวาสได้วางโครงการ ที่แม้จะยังไม่แก้ ปัญหาปีนี้หรือปีหน้า แต่ถ้าทำอย่างดี ในประมาณ ๕ หรือ ๖ ปี ปัญหาน้ำขาดแคลนใน กรุงเทพฯ จะหมดไปโดยสิ้นเชิง..."

พระราชดำรัสถึงโครงการกักเก็บน้ำป่าสัก จ.ลพบุรี และ จ.สระบุรี โครงการเขื่อนเก็บน้ำแม่น้ำนครนายก จ.นครนายก โครงการพัฒนาลุ่มน้ำปากพนัง จังหวัดนครศรีธรรมราช ณ ศาลาดุสิตดาลัย สวนจิตรลดา วันที่ ๔ ธันวาคม ๒๕๓๖


"... เรื่องน้ำนี้ ก็เป็นปัจจัยหลักของมวลมนุษย์ ไม่ใช่มนุษย์เท่านั้น แม้สิ่งมีชีวิตทั้งหลาย ทั้งสัตว์ทั้งพืช ถ้าไม่มีก็อยู่ไม่ได้ เพราะว่าน้ำเป็นสื่อ หรือเป็นปัจจัยสำคัญของสิ่งมีชีวิต แม้สิ่งไม่มีชีวิตก็ต้องการน้ำเหมือนกัน มิฉะนั้นก็จะกลายเป็นอะไรไม่ทราบ เช่น ในวัตุถุต่างๆ ในรูปผลึก ก็ต้อง มีน้ำในนั้นด้วย ถ้าไม่มีน้ำก็จะไม่เป็นผลึก กลายเป็นสิ่งที่ไม่มีรูป ฉะนั้น น้ำนี้ก็เป็นสิ่งสำคัญ ที่กล่าวถึงข้อนี้ก็จะให้ได้ทราบถึงว่า ทำไมการพัฒนา ขั้นแรกหรือสิ่งแรก ที่นึกถึงก็คือโครงการชลประทาน แล้วก็โครงการ สิ่งแวดล้อมทำให้น้ำดี สองอย่างนี้อื่นๆ ก็จะเป็นไปได้ถ้าหากว่า ปัญหา ของน้ำนี้ เราได้สามารถที่จะแก้ไข หรืออย่างน้อยที่สุด ก็ทำให้เรามีน้ำใช้ อย่างเพียงพอ ฉะนั้นการพัฒนานั้นสิ่งสำคัญก็อยู่ตรงนี้ นอกจากนั้น ก็เป็นสิ่งที่ต่อเนื่อง เช่นวิชาการในด้านการเพาะปลูก เป็นต้น ตลอดจนถึง การพัฒนาที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรม หรือการค้า หรือการคลัง อะไร พวกนี้ก็ต่อเนื่องต่อไป... "

พระราชดำรัส วันที่ ๒๙ ธันวาคม ๒๕๓๒ พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน


 “... การทำฝนเทียมนี้ไม่ใช่เรื่องง่าย จะต้องมีเครื่องอุปกรณ์ วัสดุ และเจ้าหน้าที่ งานที่ทำนี้ก็ต้องส้ินเปลืองไม่ใช่น้อย แต้ถ้าผลที่ได้ คือจะเป็นผลที่น่าพอใจ การทำฝนนี้ เป็นสิ่งที่ลำบากหลายๆ ประการ ทางด้านเทคนิค และในด้านจังหวะที่จะทำ เพราะถ้าพูดถึงด้านเทคนิค ฝนที่ทำนี้ จะพลิกฤดูการไม่ได้ ไม่ใช่ว่าฝนแล้งจะบันดาลได้อย่าง ปาฎิหาริย์ทำให้มีฝนเพียงพอกับการเพาะปลูกมิได้ หรือจะแทนการ ชลประทานที่ขุดเรียบร้อยกว้างขวางก็ไม่ได้ แต่เป็นทางหนึ่งที่มีหวัง สำหรับฤดูกาลที่ควรจะมีฝน และฝนเทียมจะช่วยให้ประคองพืชผล ไม่ให้สิ้นไปพอได้ การทำฝนเทียมนี้เป็นสิ่งที่ใหม่ จึงต้องทำโครงการ อย่างระมัดระวัง เพราะว่าสิ้นเปลือง ถ้าทำแล้วไม่ได้ผลจะสิ้น เปลืองโดยใช่เหตุ...”

พระราชดำริ วันที่ ๒๕ กรกฎาคม ๒๕๑๗ ณ พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน


 ให้พิจารณาดำเนินการสร้างฝายราคาประหยัด โดยใช้วัสดุ ราคาถูกและหาง่ายในท้องถิ่น เช่น แบบหินทิ้งคลุมด้วยตาข่าย ช่วยปิดกั้นร่องน้ำกับลำธารขนาดเล็กเป็นระยะๆ เพื่อใช้เก็บกักน้ำ และตะกอนดินไว้บางส่วน โดยน้ำที่เก็บไว้ จะซึมเข้าไปในดิน ทำให้ความชุ่มชื้นแผ่ขยายออกไปทั้งสองข้าง ต่อไปจะสามารถ ปลูกพันธุ์ไม้ท้องถิ่น พันธ์ุไม้โตเร็ว และพันธุ์ไม้ไม่ทิ้งใบ เพื่อ ฟื้นฟูพื้นที่ต้นน้ำลำธารให้มีสภาพเขียวชอุ่มขึ้นเป็นลำดับ...” พระราชดำรัส วันที่ ๒๒ กุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๕๓๒ อ.บาเจาพ จ.นคราธิวาส “...ให้ดำเนินการสำรวจทำเลสร้างฝายต้นน้ำลำธารในระดับที่สูง ใกล้บริเวณยอดเขามากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ ลักษณะของฝาย ดังกล่าวจำเป็นต้องออกแบบใหม่ เพื่อให้สามารถกักเก็บน้ำ ไว้ได้ปริมาณน้ำหล่อเลี้ยงและประคับประคองกล้าไม้พันธุ์ที่ แข็งแรง และโตเร็วที่ใช้ปลูกแซมในป่าแห้งแล้ง อย่างสม่ำเสมอ โดยการจ่ายน้ำไปรอบๆ ตัวฝายจนสามารถตั้งตัวได้..."

พระราชดำรัส วันที่ ๑ ธันวาคม พ.ศ.๒๕๒๑ อ.แม่ลาน้อย จ.แม่ฮ่องสอน


“... อาจมีบางคนเข้าใจว่า ทำไมจึงสนใจเรื่องชลประทาน หรือเรื่องป่าไม้ จำได้เมื่ออายุ ๑๐ ขวบ ที่โรงเรียนมีครู ซึ่งเดี๋ยวนี้ตายไปแล่้ว สอนเรื่องวิทยาศาสตร์ เรื่องการอนุรักษ์ดิน แล้วให้เขียนว่าภูเขาต้องมีป่าไม้อย่างนั้น เมื่อเม็ดฝนตกลงมาแล้ว จะชะดินลงมาเร็ว ทำให้ไหลตามน้ำไป ทำความเสียหายดินหมดจากภูเขา เพราะไหลตามสายน้ำไป ก็เป็นหลักของป่าไม้ เรื่องการอนุรักษ์ และเป็นหลักของชลประทาน ที่ว่า ถ้าเราไม่รักษาป่าไม้ข้างบน จะทำให้ เดือดร้อนตลอดทั้งดินบนภูเขาจะหมดไป กระทั่งมีตะกอนลงมาในเขื่อน มีตะกอนลงมาในแม่น้ำ ทำให้น้ำท่วม นี้นะ เรียนมา ตั้งแต่ อายุ ๑๐ ขวบ ..."

พระราชดำรัส เมื่อวันที่ ๒๕ กันยายน พ.ศ.๒๕๑๒

 “...สำหรับต้นน้ำ ไม้ที่ขึ้นอยู่บริเวณสองข้างลำห้วย จำเป็นต้องรักษา ไว้ให้ดี เพราะจะช่วยเก็บรักษาความชุ่มชื้นไว้ ส่วนตามร่องน้ำและบริเวณที่น้ำซับ ก็ควรสร้างฝายขนาดเล็ก กั้นน้ำไว้ในลักษณะฝายชุ่มชื้น แม้จะมีจำนวนน้อยก็ตาม สำหรับแหล่งน้ำ ที่มีปริมาณน้ำมาก จึงสร้างฝายเพื่อผันน้ำ ลงมาใช้ในพื้นที่เพาะปลูก...” “... ควรสร้างฝายต้นน้ำลำธารตามร่องน้ำ เพื่อช่่วยชะลอกระแสน้ำ และกักเก็บน้ำ สำหรับสร้างความชุ่มชื้นให้กับบริเวณต้นน้ำ...”

พระราชดำรัส เมื่อวันที่ ๑๑ มีนาคม พ.ศ.๒๕๓๒ ณ ดอยอ่างขาง เชียงใหม่



“หลักสําคัญ ว่าต้องมีน้ำบริโภค น้ำใช้ น้ำเพื่อการเพาะปลูก เพราะว่าชีวิตอยู่ที่นั่น 
ถ้ามีน้ำคนอยู่ได้ ถ้าไม่มีน้ำคนอยู่ไม่ได้ ไม่มีไฟคนอยู่ได้ แต่ถ้ามีไฟฟ้าไม่มีน้ำคนอยู่ไม่ได้”

กระแสพระราชดํารัสนี้ พระราชทานไว้เมื่อวันที่ ๑๗ มีนาคม ๒๕๒๙ 
ณ พระตําหนักจิตรลดารโหฐาน


ขอบคุณข้อมูลจาก



วันจันทร์ที่ 28 พฤศจิกายน พ.ศ. 2554

พระราชดำรัสเกี่ยวกับบ้านเมือง


เนื่องในวโรกาส วันพ่อแห่งชาติ วันที่ ๕ ธันวาคม ๒๕๕๔
ผู้เขียนขอร่วมเผยแพร่พระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ เพื่อถวายเป็นพระราชกุศลเนื่องในวันคล้ายวันพระราชสมภพแด่องค์ภูมิพล อดุลยเดช

ถ้าทุกคนสนใจในความรักประเทศชาติ รักษาความดีเอาไว้ ไม่ต้องไปตามอย่างในสิ่งที่เราเห็น 
ว่าไม่น่าที่จะเจริญไม่น่าจะพัฒนา เราต้องรักษาแนวทางความคิดตามที่เรามีอยู่
 แม้จะเป็นสิ่งที่ตกทอดมาแต่โบราณกาลจากปู่ย่าตายายของเรา 
แต่เป็นระเบียบการหรือเป็นวิธีการที่ดี จะไม่ล้าสมัย

(ในโอกาสเสด็จฯ ไปทรงเยี่ยมวิทยาลัยวิชาการศึกษาประสานมิตร 13 มีนาคม 2514) 


บ้านเมืองของเรากำลังต้องการการปรับปรุงและการพัฒนาที่มีประสิทธิภาพ 
ทางที่เราจะช่วยกันได้ก็คือ การที่ทำความคิดให้ถูกและแน่วแน่ 
ในอันที่จะยึดถือประโยชน์ของบ้านเมืองเป็นที่หมาย ต้องเพลาการคิดถึงประโยชน์เฉพาะตัว
 และความขัดแย้งกันในสิ่งที่มิใช่สาระลง

(พระราชทานแก่ประชาชนชาวไทยในโอกาสขึ้นปีใหม่ 2543) 


ในการปฏิบัติราชการนั้น ขอให้ทำหน้าที่เพื่อหน้าที่ อย่านึกถึงบำเหน็จรางวัลหรือผลประโยชน์ให้มาก
ขอให้ถือว่าการทำหน้าที่ได้สมบูรณ์ เป็นทั้งรางวัลและประโยชน์อย่างประเสริฐ 
จะทำให้บ้านเมืองไทยของเราอยู่เย็นเป็นสุขและมั่นคง

(เนื่องในโอกาสวันข้าราชการพลเรือน 1 เมษายน 2533) 


คนเราถ้าพอใจในความต้องการ ก็มีความโลภน้อย เมื่อมีความโลภน้อยก็เบียดเบียนคนอื่นน้อย ถ้าทุกประเทศมีความคิดว่าทำอะไรต้องพอเพียง หมายความว่าพอประมาณ ไม่สุดโต่ง ไม่โลภอย่างมาก คนเราก็อยู่เป็นสุข

(พระราชทานแก่คณะบุคคลที่เข้าเฝ้าฯ ณ ศาลาดุสิดาลัย 4 ธันวาคม 2541) 

ขอบคุณข้อมูลจาก
และภาพจากอินเตอร์เนต

วันอาทิตย์ที่ 27 พฤศจิกายน พ.ศ. 2554

พระราชดำรัสเกี่ยวกับความพอเพียง



“...เศรษฐศาสตร์เป็นวิชาของเศรษฐกิจ การที่ต้องใช้รถไถต้องไปซื้อ 
เราต้องใช้ต้องหาเงินมาสำหรับซื้อน้ำมันสำหรับรถไถ เวลารถไถเก่าเราต้องยิ่งซ่อมแซม 
แต่เวลาใช้นั้นเราก็ต้องป้อนน้ำมันให้เป็นอาหาร เสร็จแล้วมันคายควัน ควันเราสูดเข้าไปแล้วก็ปวดหัว ส่วนควายเวลาเราใช้เราก็ต้องป้อนอาหาร ต้องให้หญ้าให้อาหารมันกิน 
แต่ว่ามันคายออกมา ที่มันคายออกมาก็เป็นปุ๋ย แล้วก็ใช้ได้สำหรับให้ที่ดินของเราไม่เสีย...”

พระราชดำรัส เนื่องในพระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ 
ณ ศาลาดุสิดาลัย วันที่ ๙ พฤษภาคม ๒๕๒๙ 


“...เราไม่เป็นประเทศร่ำรวย เรามีพอสมควร พออยู่ได้ แต่ไม่เป็นประเทศที่ก้าวหน้าอย่างมาก
เราไม่อยากจะเป็นประเทศก้าวหน้าอย่างมาก เพราะถ้าเราเป็นประเทศก้าวหน้าอย่างมากก็จะมีแต่ถอยกลับ ประเทศเหล่านั้นที่เป็นประเทศอุตสาหกรรมก้าวหน้า จะมีแต่ถอยหลังและถอยหลังอย่างน่ากลัว
 แต่ถ้าเรามีการบริหารแบบเรียกว่าแบบคนจน แบบที่ไม่ติดกับตำรามากเกินไป 
ทำอย่างมีสามัคคีนี่แหละคือเมตตากัน จะอยู่ได้ตลอดไป...”

พระราชดำรัส เนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา 
ณ ศาลาดุสิดาลัย วันที่ ๔ ธันวาคม ๒๕๓๔ 


“...ตามปกติคนเราชอบดูสถานการณ์ในทางดี ที่เขาเรียกว่าเล็งผลเลิศ ก็เห็นว่าประเทศไทย 
เรานี่ก้าวหน้าดี การเงินการอุตสาหกรรมการค้าดี มีกำไร อีกทางหนึ่งก็ต้องบอกว่าเรากำลังเสื่อมลงไปส่วนใหญ่ ทฤษฎีว่า ถ้ามีเงินเท่านั้นๆ มีการกู้เท่านั้นๆ หมายความว่าเศรษฐกิจก้าวหน้า 
แล้วก็ประเทศก็เจริญมีหวังว่าจะเป็นมหาอำนาจ ขอโทษเลยต้องเตือนเขาว่า จริงตัวเลขดี
 แต่ว่าถ้าเราไม่ระมัดระวังในความต้องการพื้นฐานของประชาชนนั้นไม่มีทาง...”

พระราชดำรัส เนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา 
ณ ศาลาดุสิดาลัย วันที่ ๔ ธันวาคม ๒๕๓๖

“...เดี๋ยวนี้ประเทศไทยก็ยังอยู่ดีพอสมควร ใช้คำว่า พอสมควร เพราะเดี๋ยวมีคนเห็นว่ามีคนจน 
คนเดือดร้อน จำนวนมากพอสมควร แต่ใช้คำว่า พอสมควรนี้ หมายความว่าตามอัตตภาพ...”

พระราชดำรัส เนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา 
ณ ศาลาดุสิดาลัย วันที่ ๔ ธันวาคม ๒๕๓๙ 


“...ที่เป็นห่วงนั้น เพราะแม้ในเวลา ๒ ปี ที่เป็นปีกาญจนาภิเษกก็ได้เห็นสิ่งที่ทำให้เห็นได้ว่า ประชาชนยังมีความเดือดร้อนมาก และมีสิ่งที่ควรจะแก้ไขและดำเนินการต่อไปทุกด้าน มีภัยจากธรรมชาติกระหน่ำ ภัยธรรมชาตินี้เราคงสามารถที่จะบรรเทาได้หรือแก้ไขได้ เพียงแต่ว่าต้องใช้เวลาพอใช้ มีภัยที่มาจากจิตใจของคน ซึ่งก็แก้ไขได้เหมือนกัน แต่ว่ายากกว่าภัยธรรมชาติ ธรรมชาตินั้นเป็นสิ่งนอกกายเรา แต่นิสัยใจคอของคนเป็นสิ่งที่อยู่ข้างใน อันนี้ก็เป็นข้อหนึ่งที่อยากให้จัดการให้มีความเรียบร้อย แต่ก็ไม่หมดหวัง...”

พระราชดำรัส เนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา 
ณ ศาลาดุสิดาลัย วันที่ ๔ ธันวาคม ๒๕๓๙ 


“...การจะเป็นเสือนั้นไม่สำคัญ สำคัญอยู่ที่เรามีเศรษฐกิจแบบพอมีพอกิน แบบพอมีพอกินนั้น หมายความว่า อุ้มชูตัวเองได้ ให้มีพอเพียงกับตนเอง ความพอเพียงนี้ไม่ได้หมายความว่าทุกครอบครัวจะต้องผลิตอาหารของตัวเอง จะต้องทอผ้าใส่เอง อย่างนั้นมันเกินไป แต่ว่าในหมู่บ้านหรือในอำเภอ จะต้องมีความพอเพียงพอสมควร บางสิ่งบางอย่างผลิตได้มากกว่าความต้องการก็ขายได้ แต่ขายในที่ไม่ห่างไกลเท่าไร ไม่ต้องเสียค่าขนส่งมากนัก...”

พระราชดำรัส เนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา 
ณ ศาลาดุสิดาลัย วันที่ ๔ ธันวาคม ๒๕๓๙. 


“...เมื่อปี ๒๕๑๗ วันนั้นได้พูดถึงว่า เราควรปฏิบัติให้พอมีพอกิน 
พอมีพอกินนี้ก็แปลว่า เศรษฐกิจพอเพียงนั่นเอง ถ้าแต่ละคนมีพอมีพอกิน ก็ใช้ได้ 
ยิ่งถ้าทั้งประเทศพอมีพอกินก็ยิ่งดี และประเทศไทยเวลานั้นก็เริ่มจะเป็นไม่พอมีพอกิน 
บางคนก็มีมาก บางคนก็ไม่มีเลย...”

พระราชดำรัส เนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา 
ณ ศาลาดุสิดาลัย วันที่ ๔ ธันวาคม ๒๕๔๑ 


“...พอเพียง มีความหมายกว้างขวางยิ่งกว่านี้อีก คือคำว่าพอ ก็พอเพียงนี้ก็พอแค่นั้นเอง 
คนเราถ้าพอในความต้องการก็มีความโลภน้อย เมื่อมีความโลภน้อยก็เบียดเบียนคนอื่นน้อย 
ถ้าประเทศใดมีความคิดอันนี้ มีความคิดว่าทำอะไรต้องพอเพียง หมายความว่าพอประมาณ ซื่อตรง 
ไม่โลภอย่างมาก คนเราก็อยู่เป็นสุข พอเพียงนี้อาจจะมี มีมากอาจจะมีของหรูหราก็ได้ 
แต่ว่าต้องไม่ไปเบียดเบียนคนอื่น...” 

พระราชดำรัส เนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา 
ณ ศาลาดุสิดาลัย วันที่ ๔ ธันวาคม ๒๕๔๑ 


“...ไฟดับถ้ามีความจำเป็น หากมีเศรษฐกิจพอเพียงแบบไม่เต็มที่ เรามีเครื่องปั่นไฟก็ใช้ปั่นไฟ
หรือถ้าขั้นโบราณกว่า มืดก็จุดเทียน คือมีทางที่จะแก้ปัญหาเสมอ ฉะนั้นเศรษฐกิจพอเพียงก็มีเป็นขั้นๆ
แต่จะบอกว่าเศรษฐกิจพอเพียงนี้ ให้พอเพียงเฉพาะตัวเองร้อยเปอร์เซ็นต์นี่เป็นสิ่งทำไม่ได้ 
จะต้องมีการแลกเปลี่ยน ต้องมีการช่วยกัน ถ้ามีการช่วยกัน แลกเปลี่ยนกัน ก็ไม่ใช่พอเพียงแล้ว 
แต่ว่าพอเพียงในทฤษฎีในหลวงนี้ คือให้สามารถที่จะดำเนินงานได้...”

พระราชดำรัส เนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา 
ณ ศาลาดุสิดาลัย วันที่ ๒๓ ธันวาคม ๒๕๔๒ 


“...โครงการต่างๆ หรือเศรษฐกิจที่ใหญ่ ต้องมีความสอดคล้องกันดีที่ไม่ใช่เหมือนทฤษฎีใหม่ 
ที่ใช้ที่ดินเพียง ๑๕ ไร่ และสามารถที่จะปลูกข้าวพอกิน กิจการนี้ใหญ่กว่า 
แต่ก็เป็นเศรษฐกิจพอเพียงเหมือนกัน คนไม่เข้าใจว่ากิจการใหญ่ๆ 
เหมือนสร้างเขื่อนป่าสักก็เป็นเศรษฐกิจพอเพียงเหมือนกัน 
เขานึกว่าเป็นเศรษฐกิจสมัยใหม่ เป็นเศรษฐกิจที่ห่างไกลจากเศรษฐกิจพอเพียง 
แต่ที่จริงแล้ว เป็นเศรษฐกิจพอเพียงเหมือนกัน...”

พระราชดำรัส เนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา 
ณ ศาลาดุสิดาลัย วันที่ ๒๓ ธันวาคม ๒๕๔๒ 


“...ฉันพูดเศรษฐกิจพอเพียงความหมายคือ ทำอะไรให้เหมาะสมกับฐานะของตัวเอง 
คือทำจากรายได้ ๒๐๐-๓๐๐ บาท ขึ้นไปเป็นสองหมื่น สามหมื่นบาท คนชอบเอาคำพูดของฉัน 
เศรษฐกิจพอเพียงไปพูดกันเลอะเทอะ เศรษฐกิจพอเพียง คือทำเป็น Self-Sufficiency 
มันไม่ใช่ความหมายไม่ใช่แบบที่ฉันคิด ที่ฉันคิดคือเป็น Self-Sufficiency of Economy
เช่น ถ้าเขาต้องการดูทีวี ก็ควรให้เขามีดู ไม่ใช่ไปจำกัดเขาไม่ให้ซื้อทีวีดู 
เขาต้องการดูเพื่อความสนุกสนาน ในหมู่บ้านไกลๆ ที่ฉันไป เขามีทีวีดูแต่ใช้แบตเตอรี่ เขาไม่มีไฟฟ้า
แต่ถ้า Sufficiency นั้น มีทีวีเขาฟุ่มเฟือย เปรียบเสมือนคนไม่มีสตางค์ไปตัดสูทใส่
และยังใส่เนคไทเวอร์ซาเช่ อันนี้ก็เกินไป...” 

พระตำหนักเปี่ยมสุข วังไกลกังวล 
๑๗ มกราคม ๒๕๔๔ 


เผยแพร่ข้อมูลอันเป็นประโยชน์ต่อมวลประชาชน
เพื่อถวายเป็นพระราชกุศลแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพล อดุลยเดช 

ขอบคุณข้อมูลจากมูลนิธิชัยพัฒนา
ขอบคุณภาพจากอินเตอร์เนต

วันเสาร์ที่ 26 พฤศจิกายน พ.ศ. 2554

ส่องกระจกในความมืด


กิจกรรมเพื่อสังคม เพื่อสาธารณะประโยชน์ หรือเพื่อรณรงค์ ส่งเสริม สังคมให้ดีงามตามวิถีไทย ตามรอยเท้าพ่อ เพื่อเป็นพระราชกุศลแด่องค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ
ผู้เขียนอยากจะเรียนว่าไม่ว่ากิจกรรมใดๆ ถ้าตรงกับจริตของผู้เขียนแล้ว และผู้เขียนรู้สึกว่ามีความสุขถ้าได้ทำเช่นนั้น ผู้เขียนพร้อมจะเข้าร่วมกิจกรรมตามสภาพและกำลังศรัทธา 

และที่ผ่านมากิจกรรมต่างๆที่ได้ร่วมแล้ว บางกิจกรรม บางกลุ่ม บางทีม ผู้เขียนก็ละจากมาอย่างเงียบๆโดยที่ไม่มีใครล่วงรู้ด้วยเหตุผลไม่ชอบส่วนตัว แต่ไม่เคยไปโพนทนาว่าทำไมถึงต้องจากไป 

บางกิจกรรม ถูกปล่อยปละละทิ้งเสมือนไร้คนดูแลและสานต่อให้กิจกรรมยังคงมีความเคลื่อนไหว
 แต่ด้วยความรักและศรัทธาในสิ่งที่ได้มีส่วนร่วมเริ่มต้นมาด้วยตัวเองแล้ว 
จึงยังต้องดูแลอยู่อย่างเงียบๆต่อไป

บางกิจกรรมได้รับการยอมรับจากสังคมมากมาย แต่ภาพลักษณ์ภายใน 
ไร้ระบบระเบียบในการดำเนินงาน ยึดหลัก..ตัวกู...เป็นใหญ่ 

เมื่อได้ทำความรู้จัก"คน"อาสา ก็ยิ่งได้เรียนรู้ การ เกิดขึ้น ตั้งอยู่ และดับไป

แม้จะยกตนว่าดีกว่าคนอื่นอย่างไร...ค่าแห่งความเป็น คน ย่อมไม่แตกต่างกันมาก 
หากแต่เพียงมุมความคิดและวิธีการนำเสนอคุณค่าในตัวเองเท่านั้นที่ต่างกัน

บางคนเป็นต้นไม้ใหญ่ หวั่นไหวไปตามแรงลม แต่ยังยืนหยัดอยู่อย่างมั่นคง
บางคนเป็นยอดหญ้า ลู่ไปตามแรงลม เหมือนล้าแรง
บางคนยอมหักไม่ยอมงอ...

บางคนแม้มีกระจกส่องใจ...สักสิบสักร้อย ถ้าขาดการพินิจพิจารณาอย่างถี่ถ้วน 
ด้วยสติ ด้วยเหตุและผล ก็ไม่ต่างอะไรกับส่องกระจกในความมืด

ส่วนตัวผู้เขียนนั้น..ชี้ชัดไม่ได้ว่าเป็นอย่างไร 
บางครั้งยอมหักไม่ยอมงอ 
ซึ่งแล้วแต่จังหวะเวลา แต่ไม่ใช่ต้นต้นอ้อล้อไปกับแรงลม
และชัดเจนว่า..ตัวกู..ใหญ่มากเหมือนกัน 

ขอบคุณภาพจาก

วันพฤหัสบดีที่ 24 พฤศจิกายน พ.ศ. 2554

น้ำท่วมบ้านทุ่งผักบุ้งไม่มี

ผู้เขียนเกิดบ้านทุ่ง พ่อเลี้ยงเป็นเพื่อนยุงกลางสวนยาง แต่ไปโตในเมือง ดังนั้นบรรยากาศแบบบ้านอก บ้านทุ่ง บ้านนา บ้านกลางสวนและเด็กในเมืองได้สัมผัสมาอย่างละเล็กละน้อย 
และถูกบันทึกไว้ในความทรงจำ



ภาพน้ำท่วมทุ่ง(นา)ก็เคยเห็นและพอจำได้รางเลือนเมื่อตอนเด็กมากเคยร้องขอพี่ๆ(ลูกพี่ลูกน้อง)ติดเรือออกไปกลางทุ่ง ที่มีน้ำสุดลูกหูสุดลูกตา ใน ที่บอกว่าร้องขอ คือต้องร้องให้ก่อนจึงจะได้ไป เพราะยังเด็กมากพี่ๆวัยรุ่นไม่อยากเอาไปเป็นภาระ ขอดีๆไม่ให้ไปต้องร้องน้ำตาใหลก่อน ให้ปู่หรือย่าเห็นก่อนเขาจะได้บอกว่า "เอาน้องไปด้วย" นี่คือคำสั่งปกาศิต

เมื่อโตแล้ว ถูกส่งเข้าไปอยู่ในเมือง ปิดเทอมถึงได้กลับบ้าน บางทีอ้างเรียนพิเศษก็ไม่กลับ


ดังนั้น น้ำท่วมบ้านทุกปีก็จริง ไม่เคยได้สัมผัสของจริงสักครั้ง 
ปีนี้คงเป็นครั้งแรก ที่มีโอกาสได้สัมผัสของจริง 
ดังนั้นจึงเดินออกไปสำรวจน้ำนอกบ้านตั้งแต่เช้าตรู่



เช้าตรู่เมื่อหลายวันก่อนสายหมอกหนาเต็มฟ้า เห็นแล้วตื่นเต้น ถ้าเป็นกรุงเทพฯเราคงดีใจ ว่าลมหนาวคงมาเยือนในเร็ววัน แต่ภาคใต้มีแต่ความเย็นจากลมฝน น้าบอกว่า..แสดงว่าฝนจะตกใหญ่ ผู้เขียนแอบคิดในใจว่า..ตอนนี้ก็ตกทุกวันมาเป็นเดือนๆอยู่แล้วไม่เห็นมีหมอก
มะละกอ(พันธ์อะไรจำไม่ได้) ลูกดก ไม่มีเมล็ด หวาน อร่อยมาก หากน้ำท่วมขังหลายวันมันคงตายเพราะรากมะละกอไม่แข็งแรงพอจะแช่น้ำหลายวัน




และเมื่อ ๓ วันที่ผ่านมาฝนตกอย่างหนักทั้งวันทั้งคืน ไม่พักยกหยุดให้พระอาทิตย์ได้ส่งแสงถึงผืนดิน 

เช้านี้..น้ำคลองหลังบ้านเอ่อล้นกระจายตัวไปทั่วถึงกันทุกบ้าน น้ำทุ่งกำลังข้ามถนนผ่านมาชนกับน้ำคลองทำให้คิดถึงคำบอกเล่าของน้า...ฝนจะตกใหญ่ อืม..จริงแฮะ

ตอนนี้น้ำกำลังเดินทางอย่างช้าๆ ค่อยๆสูงขึ้นทีน้อย ไม่ค่อยน่าตกใจกลัว บ้านของผู้เขียนถมที่สูงกว่าคนอื่นเล็กน้อยน้ำจึงมาช้ากว่าคนอื่น บ้านน้าเป็นบ้านยกพื้นสูง น้ำเข้ายึดครองพื้นที่บริเวณใต้ถุนเรียบร้อย บ้านของหลานยกของหนีน้ำตอนตีสี่

น้ำท่วมขังผ่านไปเพียงวันเดียว มะละกอต้นข้างบนก็ล้าแรง
ถอนรากถอนโคนตัวเองนอนพักไปอย่างถาวรแล้ว
น้ำยังคงเดินทางมาอย่างอ้อยอิ่ง ปล่อยเราเฝ้ารอ แล้วรอเล่า
ยังไม่ยอมหยุดเดินทางและเพิ่มขึ้นอย่างช้าๆ
อีกประมาณ ๑ ฟุตจึงไหลจะเข้าบ้าน
อาจคงต้องรอถึงพรุ่งนี้เช้า เพราะดูเธอทำตัวเป็นรถไฟไทย..ถึงก็ช่างไม่ถึงก็ช่าง




วันพุธที่ 23 พฤศจิกายน พ.ศ. 2554

คนเบื้องหลัง"รายการรักพ่อ"

"กลุ่มรักพ่อภาคปฏิบัติ"

 เป็นกลุ่มทำงานที่ริเริ่มทำงานอย่างอิสระจากคนไม่กี่คน จนกระทั่งความเติบโต ยืนหยัดอย่างเข้มแข็งท่ามกลางปัญหามากมาย ปัจจุบันงานเพื่อพ่อหลวง งานเพื่อสาธารณะเข้ามามากมาย โดยเฉพาะช่วงเวลาที่คนกรุงเทพฯ ปทุมธานี อยุธยาและจังหวัดใกล้เคียงต้องประสบกับปัญหาน้ำท่วมอย่างรุนแรง
ผู้เขียนเฝ้ามองการทำงานของพี่น้องในกลุ่มอย่างเงียบๆ พวกเขาได้ทุ่มเทกำลังกาย กำลังใจ เสียสละเวลา ทุนทรัพย์ส่วนตัวให้กับงานสาธารณะโดยไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อยและท้อถอย

นั่นคือคนทำงานในส่วนหน้าของกลุ่ม และในกลุ่มทำงานรักพ่อภาคปฏิบัติยังมีอีกส่วนหนึ่งที่อยู่เบื้องหลังและผลิตงานรายการวิทยุรักพ่อออกมาอย่างต่อเนื่องเพื่อเผยแพร่
 และรณรงค์ส่งเสริมให้คนไทยออกมาแสดงความรัก และทำดีเพื่อพ่อหลวงกัน
มากๆ


จำได้แต่ว่าวันหนึ่งคุณจอม พินิจ อัศวนุชิต บอกด้วยเสียงตื่นเต้นว่า พี่ครับเรากำลังจะมีรายการวิทยุ มีสถานีวิทยุเชียงใหม่ซึ่งจัดรายการโดยคุณแอน ฟ้องจันทรฺ์ เพื่อนจากฟากฟ้า จะช่วยออกอากาศให้เรา และมีพี่บอนช่วยเหลือในเรื่องจัดทำรายการ ผู้เขียนรู้สึกยินดีเป็นอย่างยิ่งนั่นหมายถึงเรามีช่องทางในการเผยแพร่กิจกรรมดีๆ ออกสู่สังคมได้มากขึ้น ซึ่งอันที่จริงผู้เขียนไม่รู้จักคุณแอน และพี่บอน แต่ก็รู้สึกขอบคุณและรู้สึกว่าถ้าเราตั้งใจทำสิ่งดีๆ คนดีๆย่อมยื่นมือเข้ามาช่วยเหลือโดยมิต้องเรียกร้อง หรือร้องขอ

หลังจากนั้น คุณจอมประสานงานกับพี่บอน และคุณแอนจนกระทั่งรายการแรก เทปแรก ได้เผยแพร่ออกอากาศครั้งแรกเมื่อวันศุกร์ที่ ๑๖ กันยายน ๒๕๕๔  และทุกวันศุกร์ เวลา ๑๘.๐๐ น.
เรื่อยมาถึงปัจจุบัน
ที่เว็บไซด์ คนเมืองเรดิโอ

ผู้เขียนเคยสอบถามคุณจอมว่า การจัดทำรายการมีค่าใช้จ่ายอะไรบ้าง (เพราะเป็นที่รู้กันดีว่าเราไมมีผู้สนับสนุนค่าใช้จ่าย) ในส่วนของผู้จัดทำ ผู้ดำเนินรายการ การเดินทางของพี่บอน คุณจอมบอกว่า..คุณลุงสุเวศน์ ภู่ระหงษ์ ศิลปินประชาชน ให้เกียรติ เป็นผู้ดำเนินรายการ ทำงาน และเต็มใจเต็มที่ ที่จะทำงานนี้ ส่วนพี่บอนออกปากช่วยเต็มที่ ทั้งที่พี่บอนต้องเดินทางเทียวไปเทียวมาจากกาฬสินธ์ ไปจันทบุรี ทุกสัปดาห์ โดยใช้ห้องอัดเสียงของคุณลุงสิงหาซึ่งคุณลุงสิงหาคิดค่าห้องอัดในราคาพิเศษสุดๆ 

ขณะนี้เทปรายการที่ดำเนินการโดยคุณลุงสุเวศน์ ภู่ระหงษ์ ยังคงผลิตงานออกมาเรื่อยๆ 
บางช่วงเวลาคุณลุงได้ตัวช่วยโดยดีเจเสียงใสจากครอบครัวอุ่นรัก จังหวัดชลบุรีมาช่วย 
คือน้องเอ๋ กนกพรรณ รัตนวิเวก 

ได้จัดทำไปแล้วถึง ๑๑ เทป นอกจากเผยแพร่โดยวิทยุคนเมืองแล้ว ณ ตอนนี้พี่บอนยังได้เพิ่มช่องทางให้คนรักพ่อได้มีโอกาสได้รับฟังโดยจัดทำวิทยุออนไลน์ เพื่อเพิ่มช่องทางการสื่อสารถึงคนทั่วโลกอีกด้วย..
และสามารถรับฟังได้จากเว็บไซด์ของคุณลุงสุเวศน์ ภู่ระหงษ์ ศิลปินเพื่อประชาชน
Chez J
แผ่นดินนี้เราจอง
ตลอด ๒๔ ชั่วโมง


รายการรักพ่อ นอกจากคุณจอม พินิจ อัศวนุชิต หัวหน้ากลุ่มผู้ซึ่งรักพ่อออกนอกหน้า 
จนก้าวมาถึงรักพ่อภาคปฏิบัติ แล้ว 
ายการดีๆจะเกิดขึ้นไม่ได้ถ้าไม่มีพี่บอน หรืนายบอน กาฬสินธ์ ผู้อยู่เบื้องหลังการทำรายการทุกๆรายการ พี่บอนต้องเดินทางมาจากจังหวัดกาฬสินธ์ทุกสัปดาห์  เพื่อช่วยคุณลุงสุเวศน์ และคุณลุงสิงหา ในด้านเนื้อหาของรายการและด้านเทคนิคในทุกๆขั้นตอน  หรือถ้าไม่มีคุณลุงสุเวศน์ ภู่ระหงษ์ และคุณลุงสิงหา ผู้มีหัวใจรักพ่อหลวง ได้เสียสละทุ่มเทหัวใจ ความรักและให้เวลา ทำงานด้วยความแข็งขัน ทั้งที่เราไม่เคยรู้จักกันเป็นการส่วนตัว ไม่เคยพบปะ เจอหน้าตากัน

นอกจากนี้เรายังได้แนวร่วมจากจากดีเจน้องเอ๋ กนกพรรณ รัตนวิเวก ดีเจนิกกี้ อนุศาสตร์  บ่าวสมุย ได้เข้ามาช่วยคุณลุงสุเวศน์ เป็นดีเจร่วมด้วย หรือถ้าไม่มีคุณแอน ฟ้องจันทร์  เพื่อนจากฟากฟ้า  
จากคนเมืองเรดิโอ จังหวัดเชียงใหม่

ผู้เขียนในฐานะของสมาชิกกลุ่มรักพ่อภาคปฏิบัติ ได้เฝ้าติดตามการทำงานของทุกๆคน รู้สึกซาบซึ้ง และขอกราบคารวะในดวงจิตศรัทธาต่อพ่อหลวง ที่ได้ทุ่มทุนส่วนตัว ทุ่มเทแรงกายและเสียสละเวลาในการดำเนินการทุกๆขั้นตอน จนกระทั่งกลุ่มรักพ่อภาคปฏิบัติได้ยืนหยัดอย่างเข้มแข็ง

ขอบคุณภาพถ่ายหล่อ เท่ห์และสวย จาก Facebook ของพี่บอน และน้องเอ๋

วันอังคารที่ 22 พฤศจิกายน พ.ศ. 2554

"ในหลวง"ท่ามกลางภยันตรายในสามจังหวัดชายแดนใต้


ปัตตานี ฝนยังคงตกหนัก ท้องฟ้ายังคงมืดมัว ฤาสัญญาณของฤดูน้ำหลากกำลังมาเยือนอย่างแท้จริง 

กรมอุตุนิยมวิทยาก็ประกาศเตือน ภาคใต้ สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช สงขลา ปัตตานี นราธิวาส ฝนตกหนักและอาจมีน้ำท่วมฉับพลัน เราจะเชื่อหรือไม่ ก็ไม่ควรประมาทกับธรรมชาติ

เช้าวานนี้(๒๑ พฤศจิกายน ๒๒๕๕๔)หลังจากผู้เขียนเตรียมอาหารใส่บาตรพระภิกษุสงฆ์แล้ว ได้ยินเสียงตูมใหญ่คล้ายเสียงระเบิดเอ็ม๗๙ ที่เคยคุ้นเคยในเมืองหลวง ผู้เขียนกับน้าสบตากันเหมือนรู้นัย 
แต่ชั่วไม่กี่วินาทีก็ได้ยินเสียงฟ้าครืนครางตามมา เราจึงยิ้มพร้อมกัน..
โล่งอกไปทีคิดว่าเสียงระเบิดดังใกล้บ้านที่แท้ก็เสียงฟ้าร้อง 

และช่วงเวลาสายๆ ก็ทราบข่าวจากเพื่อนๆในออนไลน์และข่าวจากทีนิวส์ว่าเกิดระเบิดชุดคุ้มกันพระสงฆ์ขณะบิณฑบาตรบาดเจ็บ ๙ ราย ท่ามกลางฝนตกอย่างหนัก ผู้ก่อการร้ายก็ไม่หยุดพักหยุดนอนกันบ้างแล้วหรือไร ไม่เว้นแม่แต่พระสงฆ์ผู้ไม่เคยคิดผิดคิดร้ายกับผู้ใด โหดร้ายกับสังคมไทยมากเกินไปแล้ว

หลายๆคนเคยตั้งคำถามกับผู้เขียนถึงสถานการณ์ความไม่สงบในพื้นที่บ้านเกิด ผู้เขียนเองเกิดและเติบโตที่นี่จริงอยู่แต่หลังจากเรียนจบชั้นมัธยมแล้วออกจากพื้นที่..แม้ก่อนไปภาพความงดงามในสัมพันธภาพระหว่างความแตกต่างของคนไทยมุสลิมและไทยพุทธยังอยู่ในความทรงจำ
ก็มิอาจตอบได้ว่า..สาเหตุที่แท้จริง..คืออะไร?

สามจังหวัดชายแดนใต้นอกจากประชาชนอยู่กับความยากจนแล้วยังต้องอยู่
กับความหวาดกลัวมาเป็นเวลานาน

แต่ในความน่ากลัวอันตรายที่เกิดขึ้นในชีวิตนั้น...ยังมีพระมหากษัตริย์แห่งประเทศไทย 
ทรงบากบั่นเยี่ยมราษฎรของพระองค์ด้วยความลำบากโดยปราศจากความหวาดกลัว 
ทรงแก้ปัญหาความเดือดร้อนของราษฎรมาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน 

ผู้เขียนเคยเก็บเรื่องราวประทับใจจากเว็บไซด์เจ้าพระยานิวส์...


“รักถึงเพียงนี้” และ “จุดเทียนส่งเสด็จ”

  บทความชื่อ “แผ่นดินร่มเย็นที่นราธิวาส” ตีพิมพ์ในนิตยสาร “สู่อนาคต” 
ฉบับพิเศษเนื่องในวันเฉลิมฯ ได้เล่าย้อนให้เราได้เห็นภาพความยากลำบากในการเสด็จฯ เยี่ยมราษฎรทางภาคใต้เมื่อหลายปีก่อน โดยเฉพาะช่วงก่อนสร้างพระราชตำหนักทักษิณราชนิเวศน์นั้น เป็นที่รู้กันว่าจังหวัดนราธิวาสชุกชุมไปด้วยโจรร้าย โจรปล้นสะดมและพวกโจรเรียกค่าไถ่ ถึงขนาดที่ในหลายๆ หมู่บ้านนั้น แม้แต่เจ้าหน้าที่ของรัฐก็ไม่กล้าย่างกรายเข้าไป

  ทว่าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงตระหนักในทุกข์อันลึกล้ำของชาวบ้านที่ทั้งทุกข์เพราะยากจน และทุกข์เพราะภัยคุกคาม จึงได้เสด็จฯ ลงไปเยี่ยมเยียนเป็นขวัญกำลังใจให้ราษฎรของพระองค์โดยไม่ทรงหวาดหวั่น บางวันถึงกับเสด็จฯ เป็นการส่วนพระองค์โดยปราศจากกำลังอารักขา และบางหมู่บ้านตำรวจเพิ่งถูกคนร้ายแย่งปืนแล้วยิ่งตายก่อเสด็จไปถึงเพียงไม่ กี่ชั่วโมง
  ทรงรักราษฎรถึงเพียงนี้ จึงไม่แปลกที่หญิงชราคนหนึ่งในหมู่บ้านหนึ่งของอำเภอรือเสาะจะเข้ามาเกาะพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวร้องไห้แล้วบอกว่า 
“ไม่นึกเลยว่าพระเจ้าอยู่หัวเป็นคนไทยชาวพุทธ จะมารักมุสลิมได้ถึงขนาดนี้…

  บทความเดียวกันได้เปิดเผยต่อไปอีกว่า ที่อีกหมู่บ้านหนึ่งในอำเภอเดียวกันนั้น โต๊ะครูได้พาพรรคพวกมายืนรอรับเสด็จแล้วพูดขึ้นว่า “..รายอกลับไปเถอะ ประไหมสุหรีกลับไปเถิด ประเดี๋ยวพวกโจรจะลงจากเขา…” 
 และเมื่อถึงเวลาเสด็จฯ กลับที่มืดสนิทอย่างน่ากลัว โต๊ะครูกับชาวบ้านก็พากันมาจุดเทียนส่งเสด็จตลอดเส้นทางอันตราย ด้วยความห่วงใยใน “รายอ” และ “ประไหมสุหรี” หรือ พระราชาพระราชินีของพวกเขาอย่างสุดซึ้ง 
.....................................................

เป็นบทความที่ทำให้เราได้เรียนรู้อดีต และชัดเจนว่าพระเจ้าอยู่หัวฯของคนไทยทั้งประเทศทรงงานอย่างหนักมาเป็นเวลานานหลายสิบปี

ณ ที่แห่งหนตำบลใดประชาชนอยู่อาศัยกันด้วยความยากลำบาก พระองค์มิทรงนิ่งเฉย 
ทรงช่วยเหลือ แก้ปัญหาให้ราษฎร โดยไม่หวั่นกลัว ไม่ท้อถอยต่อภยันตรายใดๆ 
ดังนั้นพระองค์จึงเป็นที่รักของราษฎรทั่วทั้งประเทศไม่ว่านับถือศาสนาพุทธ คริสต์หรืออิสลาม มีภาษาและวัฒนธรรมที่แตกต่างกัน






หลังจากเรียนจบแล้วเคยกลับมาทำงานอยู่กับหน่วยงานของราชการที่จังหวัดยะลา เคยได้สัมผัสความน่ากลัวจากเงาของบุคคลที่เราไม่รู้จัก ไม่เห็น อยู่บ้างพอสมควร และมักได้ยินคำตักเตือนจากหน่วยงานเองและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างเช่นตำรวจเสมอ ๆ

รถยนต์ใช้ออกพื้นที่ของหน่วยงานเราก็ไม่มีตราสัญลักษณ์เพราะไม่ต้องการให้เป็นที่สังเกตุ และถ้าจำเป็นต้องออกพื้นที่สีแดง(หมู่บ้านสุ่มเสี่ยงอันตราย) ต้องแจ้งเจ้าหน้าที่ตำรวจทราบเพื่อขอกำลังคุ้มกัน แต่ช่วงเวลานั้นสำหรับบัณฑิตจบใหม่ไฟแรง ทำงานด้วยอุดมการณ์แม้เราไม่ประมาทแต่ไม่เคยกลัวและกลับคิดอีกมุมว่าถ้าต้องมีตำรวจคุ้มกัน เราน่าจะปลอดภัยน้อยกว่า 
ดังนั้นเราจึงเข้าไปปฏิบัติหน้าที่ในหมู่บ้านพื้นที่สีแดงโดยไม่แจ้งหัวหน่วยงานเสมอๆ ซึ่งเป็นประสบการณ์ที่น่าตื่นเต้นพอสมควร 
คนในหมู่บ้านแสดงความเป็นห่วงและแจ้งให้เราทราบว่าในหนึ่งสัปดาห์มีวันไหนบ้างที่กลุ่มผู้ก่อการร้ายเข้าตลาดและสั่งห้ามคนในหมู่บ้านไปไหนมาไหน และอาจทำร้ายคนแปลกหน้าที่ผ่านเข้ามาในหมู่บ้าน แต่โดยส่วนใหญ่ชาวบ้านก็ยังอยู่กันอย่างสงบนานๆทีจะมีเรื่องร้ายๆให้อกสั่นขวัญหาย

ทุกวันนี้สถานการณ์เลวร้ายกว่าที่เคยเป็น กลุ่มผู้ก่อการร้ายเป็นกลุ่มเดียวกับในอดีตหรือไม่ ผู้เขียนมิอาจตัดสินได้แต่กลุ่มที่ดำเนินการก่อความไม่สงบในปัจจุบันทำเกินกว่าเหตุและโหดร้ายเกินไป

เจ้าหน้าที่บ้านเมือง พ่อค้า ประชาชนผู้เกี่ยวข้อง ช่วยกันสอดส่อง ดูแลประชาชน ให้ได้อยู่ร่วมกันด้วยความสามัคคี มีความสงบสุขและปลอดภัย
ผู้ก่อการดี หรือ ผู้ก่อการร้ายทั้งหลาย ได้โปรดหยุดทำร้ายบ้านเมือง หยุดทำร้ายประชาชนในพื้นที่ 
และทำความดี เพื่อถวายเป็นพระราชกุศลแด่องค์พระเจ้าอยู่หัวฯกันเถิด.


ขอบคุณข้อมูลอ้างอิงจากเว็บไซด์เจ้าพระยานิวส์
ขอบคุณภาพในหลวงจากอินเตอร์เนต
ขอบคุณภาพมัสยิดจากต้นไผ่โฟโต้ ปัตตานี

วันเสาร์ที่ 19 พฤศจิกายน พ.ศ. 2554

ยายยิ้ม


เช้าวันนี้อากาศขมุกขมัว แสงแดดอ่อนแรงร่อยหรุบลง บางครั้งก็เจิดจ้าแผ่รังสีความร้อนกระจายตั้งแต่ยังไม่สาย แต่เป็นช่วงเวลาสั้นๆ

เสียงนกกรงหัวจุกนอกหน้าต่างยังคงร้องเพลงโดยไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อย

หลังจากผู้เขียนเสร็จภารกิจจากงานบ้านแล้วก็เริ่มภารกิจต่อไปคือ..นั่งหน้ามึนอยู่กับข่าวคราวบ้านเมืองในอินเตอร์เนต โดยเฉพาะช่วงเวลานี้..เรื่องภัยธรรมชาติจากน้ำท่วมเมืองกรุงยังไม่ทันจะบรรเทาเบาบาง เรื่องการเมือง เรื่องร้อนๆ ของนักการเมืองจอมคอรัปชั่นก็ประดังเข้ามา 

ผู้เขียนปิดตัวเองอยู่กับสังคมออนไลน์และเจอเรื่องราวของ..ยายยิ้ม..
อ่านแล้วก็อยากยิ้ม ได้ข้อคิดสะกิดใจได้จากยายยิ้ม ทั้งในมุมของการดำเนินชีวิตของหญิงชราผู้ไม่ยอมเป็นภาระใคร ผู้ไม่รู้จักความทุกข์ ในขณะที่เราและใครๆจมอยู่กับทุกข์...และการเดินตามรอยเท้าพ่อหลวงในชีวิตประจำวันกับแนวเศรษฐกิจพอเพียงที่หลายๆคนบอกว่าทำได้ยาก เพราะไม่เข้าใจ ไม่คิด และไม่ทำ


(บทสัมภาษณ์ระหว่างพิธีกรและยายยิ้ม)

พิธีกร : เดินไปวัดลำบาก เหนื่อยไหม 
ยายยิ้ม : เหนื่อยก็พัก แล้วเดินต่อ ทางไปสวรรค์มันรก ทางไปนรกมันเรียบ เห็นพระก็หายเหนื่อย 

ยายยิ้ม หญิงร่างเล็ก หลังงุ้ม ใบหน้าเปื้อนรอยยิ้มสมชื่อ 
อาศัยในบ้านไม้ที่เกือบเสร็จท่ามกลางป่าเขา
จ.พิษณุโลก อยู่ลำพังอย่างเดียวดาย ห่างไกลผู้คนและเงียบสงัด

เมื่อ 20 ปี ก่อน ยายมีบ้านอยู่ที่อำเภอพรหมพิราม พร้อมลูกหลาน 
ตอนนั้นลูกชายคนเล็กตั้งใจจะมาบุกเบิกทำมาหากินบริเวณที่อยู่ปัจจุบัน 
แต่ด้วยปัจจัยหลายอย่าง ทั้ง ความไกล ไข้ป่า และความลำบาก 
ส่งผลให้ลูกชายของยายเลือกที่จะไปขับรถแท๊กซี่ใน กทม.

และไม่ว่าด้วยเหตุผลใดๆ และการไม่อยากเป็นภาระลูกหลานหรืออื่นๆ
ยายยิ้มจึงตัดสินครั้งสำคัญ อาศัยอยู่ที่บ้านในป่าผืนนั้น เป็นต้นมา

ลูกหลานขอร้องให้ยายกลับมาอยู่บ้านแต่ยายไม่กลับ 
ลูกหลานจึงได้แต่มาเยี่ยมยายเป็นระยะรวมถึงการนำเสื้อผ้าผ้าห่ม 
ข้าวสารอาหารแห้งมาให้ยาย ลูกชายคนที่ยังอยู่ในอำเภอพรหมพิรามบอกว่า
"แม่เขาจะบอกว่าไม่ต้องเอามาให้มากนะ ในชีวิตเขา แม่เขาไม่เคยอยากได้อะไรเลย 
เคยถามเขาก็บอกว่า เขาพอแล้ว สมัยยังเด็กบ้านเราจนกันมาก 
พ่อก็ตายตอนที่เรายังเล็ก ๆ แต่แม่คนเดียวก็หา
เลี้ยงลูกได้ มานึกดูแกต้องทำงานหนักมาก แม่ถึงเน้นสอนให้เข้มแข็ง 
หนักเอาเบาสู้ไม่เลือกงาน" 
ตลอดระยะเวลา 20 ปีที่ผ่านมาท่ามกลางขุนเขา ยายไม่มีนาฬิกา 
แต่ทุกเวลาล้วนมีคุณค่า การมีชีวิตอยู่ของยายหมดไปกับการปลูกต้นไม้ 
ทำฝายเล็ก ๆ ที่ยายได้อาศัยในยามหน้าแล้งและยังเป็นสายธาร
หล่อเลี้ยงบรรดาสัตว์ และต้นไม้บนผืนแผ่นดินนี้ 
และตั้งใจถวายในหลวงและพระราชินี ยายรักในหลวงและพระราชินีมาก 
กิจวัตรประจำวัน ตื่นแต่เช้า จุดธูปไหว้พระ เก็บมุ้ง กระย่องกระแย่งมาจุดฟืนหุงข้าว
ตักข้าวสุกแรกเก็บไว้ ตักข้าวกินกับน้ำพริก หรือ ปลาแห้งที่เก็บไว้ 
ลงมากวาดลานบ้าน ซักผ้า หาบน้ำที่ลำห้วย ออกไปหาฟืนหาไม้ มาเก็บไว้

ก่อนจะคดข้าวใส่กล่อง น้ำพริก ใส่ย่าม สวมที่ขาดวิ่น ใช้พร้าแทนไม้เท้าเวลาเดิน 
ข้ามห้วย ข้ามหนอง เข้าไปในป่าลึก ผ่านฝายเล็กๆ หรือคันนาที่ยายทำไว้ 11 ฝาย 
เป็นคันดินที่ยายใช้ "จอบกับใจ" ค่อยๆขุดขึ้นมา กลายเป็นแอ่งน้ำเล็กๆกักเก็บน้ำ 
พอให้สัตว์เล็กได้มาอาศัย ต้นไม้ชุ่ม ชื่น ระหว่างนั้นก็เอาข้าวมาโปรยให้สัตว์
ในแอ่งดินกันทำคันดินนี้เสร็จ ก็เข้าไปลึกเรื่อยๆ ที่ละฝาย ทีละฝาย
เวลาแต่ละวันผ่านไปเท่าไหร่ไม่รู้ เหนื่อยก็พัก แล้วก็เดิน กลับบ้าน 
ชีวิตยาย เป็นไปอย่างเรียบง่าย

ทุก ๆ วันพระ ยายจะเดินลงมาจากเขา ด้วยระยะทางเกือบ 8 กิโล 
บวกกับวัยชราของยาย จึงทำให้ยายใช้เวลาใน การเดินทางกว่า 3 ชั่วโมง 
แต่ก็ไม่ได้ทำให้ศรัทธาของยายเสื่อมถอยลง ลำพังคนหนุ่มสาว 
จะให้เดินขึ้นลงเขา สัก 7-8 กิโลเมตร ยังเ ล่นเอาเหงื่อตก 
แต่สำหรับยายยิ้มถือเป็นกิจวัตรสม่ำเสมอทุกวันโกน วันพระเพราะไม่ว่าฝนจะตก 
ฟ้าจะร้อง ยายก็ต้องไปถึงวัดไม่เคยขาด 

ระยะทางไกลที่เต็มไปด้วยหล่มโคลน ถนนเป็นร่อง ขรุขระ ยายยิ้ม 
จะออกเดินเท้าจากบ้านตั้งแต่เช้ามืด เหนื่อยก็พัก ถึงวัดกี่โมงไม่รู้ 
รู้แต่เมื่อถึงวัดก็เปลี่ยนชุดชาว สวดมนต์ ปฏิบัติธรรม ทำความสะอาดวัด 
ทำบุญ เมื่อกลับจากวัด แกก็จะมานับวันหลังจากนั้นไปถึงวันโกนวันพระอีกที 
ก่อนที่เดินกลับบ้านในป่า ยายเลือกใช้ชีวิตเพียงลำพัง 
และใช้ชีวิตอย่างโดดเดี่ยวอย่างมีความสุขอีกครั้ง

เราขาดในสิ่งที่ยายยิ้มมี นั่นคือ ความพอเพียง ความศรัทธา ความไม่โลภ 
เรามีในสิ่งที่ยายขาด นั่นคือ ความทุกข์

พิธีกร : ข้าวสารอาหารแห้งเอามาจากไหน
ยายยิ้ม : ลูกหลานเข้าเอามาให้ เขาเอามาให้ก็ต้องกิน 
เขาจะได้บุญและก็ต้องกินอย่างประหยัดๆ ไม่ฟุ่มเฟือย

พิธีกร : ฝนตกเปียกไหม
ยายยิ้ม : ก็หลบๆเอา ไม่ลำบาก อย่าคิดว่ามันลำบาก

พิธีกร : เสื้อผ้า ขาดแล้วยังใส่อยู่
ยายยิ้ม : ลูกหลานเข้าเอามาให้ ใส่ไว้เขาจะได้บุญ

พิธีกร : ลูกหลานอยากให้ไปอยู่ด้วยกัน
ยายยิ้ม : ไม่ใช่ว่าจะไม่พึ่ง แต่ให้หมดค่าก่อนค่อยพึ่ง ป่วยไม่สบายไม่มีแรงค่อยพึ่งเขา

พิธีกร : ทำฝายไปให้ใคร
ยายยิ้ม : ให้ในหลวงพระราชินี ท่านเป็นถึงเจ้าแผ่นดินยังทำงาน เราก็ต้องทำให้ท่านบ้าง..
ส่วนสิ่งที่ทำในหลวงไม่เห็นผีสางเทวดาก็เห็น

พิธีกร : ได้ประโยชน์อะไรจากฝาย
ยายยิ้ม : ในหลวงบอกมีฝายมีน้ำ มีป่า มีปลาเล็กเป็นอาหารนกอีกทีรวมถึงได้ใช้ยามหน้าแล้ง

พิธีกร : กลัวล้มไหมเวลาเดินไปไหน
ยายยิ้ม : กลัวแต่ก็ต้องทำ ทำแล้วมีความสุข

พิธีกร : เหนื่อยไหมที่ทำมา
ยายยิ้ม : เหนื่อย แต่ทำแล้วมีความสุข 

พิธีกร : เดินไปวัดลำบาก เหนื่อยไหม
ยายยิ้ม : เหนื่อยก็พัก แล้วเดินต่อ ทางไปสวรรค์มันรก ทางไปนรกมันเรียบ เห็นพระก็หายเหนื่อย

พิธีกร : สรุปว่าทุกอย่างอยู่ที่ใจ
ยายยิ้ม : คนอื่นว่าลำบากแต่ถ้าเราคิดว่ามันเป็นสวรรค์มันก็ไม่ลำบาก

พิธีกร : ยายมาทำบุญทุกวันพระไหม
ชาวบ้าน : ยายมาประจำแหละ ยายแกชอบทำบุญ ได้เบี้ยเดือน 500 แกยังทำบุญหมดเลย

พระ (กางมุ้งให้ยายนอนในศาลาวัด) : ไม่บาปหรอกยาย ช่วยๆกัน ดูแลกัน
ยาย (นั่งยิ้มด้วยความจำนน)
ยาย เอาเงินที่เก็บๆรวมถึงเงินที่ชาวบ้านให้ไว้มาทำบุญ
ยาย อวยพรให้และภาวนาให้คนที่ทำบุญด้วย

พิธีกร : ยายรู้จักเขาเหรอ
ยายยิ้ม : (ยิ้ม) ไม่รู้จักหรอก เห็นบอกว่าจะบวชก็เลยทำบุญ 
ให้ยายทำบุญนะ (สงสัยคงจะเป็นเงินที่ทางรายการให้)
พิธีกร : ทำเถอะยาย ไม่ว่าอะไรหรอก

พิธีกร : ยายมีของแค่นี้เหรอ (หยิบกระเป๋าใบเล็กที่บรรจุเสื้อผ้า หยูกยาที่จำเป็น บัตรประชาชน)
ยายยิ้ม : แค่นี้แหละเตรียมไว้ เวลาเจ็บป่วยขึ้นมา เอาไปใบเดียว คนอื่นจะได้ไม่ลำบากหา

พิธีกร : จะไม่เป็นการแช่งตัวเองหรือ
ยายยิ้ม : ยิ่งเจ็บ ยิ่งต้องพึ่งตัวเอง ยิ่งต้องเตรียมตัว

พิธีกร : เวลายายไปตัดไม้ไผ่ ทำฝายไม่เกินกำลังเหรอ เอาแรงมาจากไหน
ยายยิ้ม : หัวเราะเบาๆแล้วตอบว่า มันเกินกำลังอยู่แล้วล่ะ แต่ต้องมีความพยายามยายบอกวันนี้หมดแรง นอนพัก พรุ่งนี้แรงก็มาใหม่

พิธีกร : ยายยังขาดอะไรอีกในชีวิต
ยายยิ้ม : ยายยิ้มสมกับชื่อ แล้วตอบอย่างภาคภูมิใจว่า ขาดความทุกข์ 

ขอบคุณ รายการคนค้นคนที่นำเรื่องราวมาเผยแพร่
ขอบคุณข้อมูลและภาพจาก Facebook คุณ Sanya แทนคุณแผ่นดิน