วันจันทร์ที่ 26 กันยายน พ.ศ. 2554

กุศโลบาย



รู้สึกว่าตัวเองเหนื่อยและง่วงนอนมาก แต่เมื่อล้มตัวลงนอนจริงๆ กลับนอนไม่หลับ เพราะใจ และสมอง วนๆเวียนๆอยู่กับ..คำว่า กุศโลบาย

ประมาณ 14 ปีมาแล้ว ตั้งใจซื้อหนังสือชื่อ กุศโลบาย ของ พลตรี หลวงวิจิตรวาทการ ให้เป็นของขวัญวันเกิดเพื่อน แต่เมื่อเปิดหนังสืออ่านแล้ว ต้องขอเก็บไว้เอง และหาอีกเล่มให้เธอไป 

วันนี้ฉันต้องไปรื้อหนังสือเล่มนั้นมากอีกครั้ง ขอปัดฝุ่น อ่านซ้ำ และอยากแบ่งปันให้เพื่อนผองน้องพี่ ได้อ่านด้วย เพราะคิดว่า น่าจะเป็นประโยชน์ในการทำงานของทุกคน

แม้จะเขียนด้วยคนรุ่นเก่า แต่ผู้เขียนก็เชื่อและศรัทธา สิ่งที่คนเก่า คนแก่คอยบ่มเพาะ
อบรมสั่งสอนเรามา

ตอนเราเป็นเด็กๆ ถ้าจำกันได้ เรามักถูกสอนให้ เราก้ม ค้อมหัว ในขณะเดินผ่านหน้า ผ่านหลัง ผู้ใหญ่
ซึ่งผู้เขียนเชื่อว่านี่คือกุศโลบายอย่างหนึ่งที่สอนเราโดยไม่รู้ตัว
คือ..ให้รู้จักอ่อนน้อมถ่อมตนต่อผู้ใหญ่ ทั้งทางกายและทางใจ

และผู้เขียนเองซึมซับสิ่งที่ผู้ใหญ่ปลุกฝังมาแต่เด็ก จนถึงวันนี้ 
ขอบอกว่า..ไม่เคยเสียใจหรือหมิ่นคำสอนของคนโบราณว่าคร่ำครึเลยแม้แต่น้อย 
แต่ก็ไม่ได้หมายความว่า..ต้องค้อมหัว หรืออ่อนน้อมถ่อมตนให้กับทุกคน เพราะผู้ใหญ่บางคนเป็นแค่คนแก่ที่เดินไปปพร้อมกับวันเวลาเท่านั้นเอง

การอ่อนน้อมถ่อมตน..ต่อผู้ใหญ่ บางครั้งเราได้..โดยไม่ต้องร้องขอ 
หรือเราได้เพราะเรากำลังต้องการความช่วยเหลือ 

ผู้เขียนไม่ได้บอกทุกคนให้ทำสิ่งใดเพื่อหวังผล
 เพียงแต่เราจริงใจต่อกัน จริงใจต่อตนเอง จริงใจต่อทุกคน 
เราก็จะได้ความจริงใจกลับคืนมาด้วยรูปแบบต่างๆ

ผู้เขียนเคยเห็นเพื่อนๆในที่ทำงาน..เข้าหาผู้ใหญ่ 
ภาษาที่ได้ยินจากการซุบซิบนินทาคือ ประจบสอพลอ เพื่อหวังผลในตำแหน่งหน้าที่การงาน
เพื่อหวังให้ผู้ใหญ่ส่งเสริมตนเองเด่น ดูดี และก้าวหน้าในหน้าที่การงาน 
แบบนี้ไม่เรียกว่าอ่อนน้อมถ่อมตนและไม่เรียกว่า กุศโลบาย แต่เรียกว่า กลอุบาย

พลตรี หลวงวิจิตรวาทการ ให้ความหมายว่า 
กุศโลบาย เป็นของดี เชิงฉลาด
กลอุบาย แปลว่า ล่อลวง ชั้นเชิง เป็นของร้าย

"ท่านจะเห็นว่าผู้ยิ่งใหญ่นั้นต้องมีกุศโลบายในหลักการของตน ไม่ใช่นั่งอยู่บนหัวคน
แต่ต้องใช้กุศโลบายนั่งอยู่ในหัวใจคน"

หนังสือเล่มนี้ได้เขียนบอก..กุศโลบาย ไว้อย่างน่าสนใจหลายประการทีเดียว เช่น การผูกมิตรกับผู้ใหญ่  การยินดีให้คนทำงาน หลีกเลี่ยงการก่อศัตรู การให้เกียรติคุณแก่ผู้อื่น เป็นต้น 
แม้หลวงวิจิตรวาทการ เป็นคนรุ่นเก่า แต่แนวการเขียนหนังสือและภาษาที่ท่านใช้สื่อ..ยังคงดูทันสมัยเสมือนคนนั่งเขียนและคนอ่านอยู่ในยุคสมัยเดียวกัน



คนรุ่นใหม่อาจมองข้ามหัวผู้ใหญ่ หาว่าคร่ำครึ หรือหัวโบราณ
แต่ผู้เขียนภูมิใจ..ภูมิปัญญาของคนโบราณ

วันศุกร์ที่ 23 กันยายน พ.ศ. 2554

บอกลาบาปในใจตน

 (ภาพ หลวงปู่ชา)


การทำงานอาสา คืออะไรนะ?

คือการเสียสละเวลาส่วนตัว ทำกิจอันใดอันหนึ่งให้ส่วนรวม เพื่อเป็นประโยชน์ต่อสาธารณะใช่หรือไม่?

ฉันเข้าใจเช่นนี้..และเข้าใจอีกว่าคนที่มีความเสียสละทำกิจอันใดอันหนึ่งเพื่อสังคมส่วนรวมได้นั้นย่อม ต้องมีจิตใจดีถึงดีมาก ไม่เห็นแก่ตัว มีน้ำใจต่อบุคคลอื่นๆ และฉันก็ศรัทธาคนเหล่านี้

แต่สิ่งหนึ่งที่ฉันไม่เคยคิด..คือ จริตของคน 
ซึ่งบางครั้งได้เผลอกระโจนลงไปเล่นสนุกสนานอยู่กับกิเลส..ตัวไม่พอ 
ที่คอยกวักมือเรียกหาพวกเขาอยู่ตลอดเวลา 

ทั้งกระโดดลงไปท้าทายความ  "ไม่พอ" 
ด้วยตัวเอง ทั้งที่นั่งเป็นกองเชียร์ ทั้งบางคนทำตัวเป็นโค้ช คงสนุกกับมันมากมาย

กระโดดโลดเต้น ละเลงสีสรรกันกระทั่งฉันเผลอใจ..ลืมตัว หยุดจิตให้ตั้งอยู่ ณ ตรงที่เดิมไม่ได้
คล้อยใจ เดินตามเขาไปเหมือนถูกสะกดจิต
ไม่เพียงแต่เดินตามตัวโมหะจริต ราคะจริต โทสะจริต  เขาไปตามลำพัง 
แต่ยังลากเพื่อนที่แสนดีร่วมขบวนไปด้วยกัน 

โอวว..คน ช่างเสาะแสวงหา สร้างบาปให้ตัวเองไม่หยุดหย่อน

ฉันขอภัยเพื่อนร่วมทางที่แสนดี ที่เผลอลากลงมาคลุกคลีกับอารมณ์บาปของฉัน

ฉันขอโบกมือลา..ถนนสายกิเลส ที่ใครต่อใครกำลังหลงทางสนุกสนาน กำลังเริงร่า อย่างลืมตัว
กำลังเป็นเสมือนยานพหนะของกรรมนำทางส่งกรรมให้ถึงที่หมาย

ฉันเพียงแต่ขอเพื่อนร่วมทางที่แสนดีของฉันกลับหลังหันไปพร้อมกัน.

**********
 โอวาทธรรมหลวงพ่อชา สุภทฺโท (พระโพธิญาณเถร)
วัดหนองป่าพง จ.อุบลราชธานี

สติก็คือชีวิตถ้าขาดสติเมื่อใดก็เหมือนตาย

คนตายแล้วเดินได้พูดได้หายใจได้ใครเคยเห็นไหม
ใครเคยคิดไหมตายทางจิต.. ตายทางสติปัญญา…

ผู้ไปยึดอารมณ์จะเป็นทุกข์เพราะอารมณ์มันไม่เที่ยง


ขอบคุณโอวาทธรรมหลวงปู่ชา และภาพจาก เว็บบอร์ดพลังจิต

                                                              http://ut9.us/i5y

วันอังคารที่ 20 กันยายน พ.ศ. 2554

"พระดาบส"การศึกษาในพระราชดำริของในหลวง


ถ้าเรามีโอกาสผ่านไปเทเวศน์และผ่านหน้าหอสมุดแห่งชาติ 
ฝั่งตรงข้ามเราจะสังเกตเห็นคนกลุ่มหนึ่ง
 แต่งกายอย่างสมถะ ใส่เสื้อคอกลมสีขาว บางครั้งใส่ขาสั้น บางครั้งขายาว ตัดผมเกรียนสั้นเรียบร้อย 
เดินเรียงแถวอยู่ภายในบริเวณรั้วที่มีป้ายบอกว่า..โรงเรียนพระดาบส 
หลายๆครั้งที่นั่งรถผ่านผู้เขียนมักมองผ่านเข้าไปเสมอและได้แต่เก็บความสงสัยอยู่ในใจ
แม้จากภาพที่เห็นทำให้พอเข้าใจเลาๆต้องเกี่ยวกับการศึกษาแน่ๆ 
แต่จะเป็นการศึกษาแนวไหน แบบใด ก็ให้สงสัยทุกครั้งที่ผ่านไปเจอ

วันนี้พอจะนึกขึ้นมาได้ก็ลองค้นหาข้อมูลให้หายสงสัย

มูลนิธิพระดาบส เกิดจากแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯซึ่งมีความห่วงใยบุคคลที่ไม่มีพื้นฐานการศึกษา และไม่มีทุนทรัพย์เพียงพอจะศึกษาต่อ และทรงประสงค์ให้คนเหล่านี้มีโอกาสได้ศึกษาวิชาชีพที่เขาปรารถนาเพื่อเป็นประโยชน์ของสังคมและประเทศชาติต่อไป

ดังนั้น จึงนำเอาวิธีการประสิทธิ์ประสาทวิชาการ ของพระดาบสมาประยุกต์ใช้ 
โดยจัดเป็นรูปการศึกษานอกระบบ 
นอกจากจะช่วยให้ผู้มาฝากตัวเป็นลูกศิษย์ได้ความรู้เป็นวิชาชีพแล้ว 
ยังช่วยให้ผู้นั้นเป็นผู้ที่มีศีลธรรมจรรยา มีน้ำใจ
 ซึ่งจะเป็นการช่วยเหลือแก้ไขปัญหาสังคมส่วนรวมได้ผลยิ่งขึ้น 
แต่ปัจจุบันนี้ ป่าธรรมชาติที่เป็นที่พำนักอาศัยของพระดาบสนั้นนับว่าจะน้อยลงไป 
จึงจำเป็นต้องใช้ป่าคอนกรีต เป็นที่ตั้งสำนักพระดาบสแทน

แนวกระแสพระราชดำริ ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมพระราชทานให้ 
พลตำรวจตรี สุชาติ เผือกสกนธ์ รับไปดำเนินการทดลองเปิดอบรมวิชาช่างไฟฟ้า-วิทยุขึ้นก่อน 
โดยใช้สถานที่ของสำนักพระราชวัง ถนนสามเสน ตรงข้ามหอสมุดแห่งชาติ ท่าวาสุกรี 
เปิดรับบุคคลที่มีความตั้งใจจริงที่จะหาความรู้ใส่ตน ไม่จำกัดเพศ อายุ และความรู้ 
รวมทั้งข้าราชการ ทหาร ตำรวจ พลเรือน ที่ผ่านศึก และทุพพลภาพได้เข้าเรียน 
สำหรับครูหรือพระดาบสอาสาสมัครนั้น จะเป็นผู้มีความรู้ 
ความศรัทธาอาสาสมัครโดยเสด็จพระราชกุศล และมีคุณลักษณะพิเศษ 
คือ มีความยินดีเสียสละให้ความรู้ของตนเป็นวิทยาทาน โดยไม่หวังผลตอบแทนใดๆ ทั้งสิ้น

โดยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ สนับสนุนโครงการพระดาบส ตั้งแต่ต้นตลอดมา 


โครงการพระดาบสนี้ได้เริ่มดำเนินการมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2518 จนถึงปัจจุบัน โรงเรียนผู้ใหญ่พระดาบสได้ทำการสอนวิชาชีพ แขนงต่างๆ ไปแล้ว ได้แก่ หลักสูตรเตรียมช่าง หลักสูตรช่างไฟฟ้าการกำลัง หลักสูตรช่างประปาภายในอาคาร และช่างเครื่องสุขภัณฑ์  และหลักสูตรพนักงาน ขับรถ 

 เมื่อปี พ.ศ. 2533 ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ 
พระราชทานพระบรมราชานุญาตให้โรงเรียนช่างฝีมือมักกะสัน การ รถไฟแห่งประเทศไทย
เปลี่ยนชื่อเป็น โรงเรียนช่างฝีมือพระดาบส การรถไฟแห่งประเทศไทย โดยจะทำการฝึกอบรมบุตร หลานของพนักงานรถไฟให้เป็นช่างฝีมือเจริญรอยตามแนวกระแสพระราชดำริเกี่ยวกับ 
โครงการพระดาบส โรงเรียนนี้ได้

การบริการตรวจซ่อม ได้เปิดให้บริการเป็นรูปสหกรณ์ ตรวจซ่อมเครื่องไฟฟ้า ได้แก่ ตู้เย็น เครื่องปรับอากาศ พัดลม เตารีดไฟฟ้า เครื่องรับวิทยุ เครื่องรับโทรทัศน์สีและขาวดำ เครื่องขยายเสียง เครื่องวิดิโอเทป งานติดตั้งไฟฟ้าภายในอาคาร งานซ่อมเครื่องยนต์ งานซ่อมรถยนต์ ช่างโลหะ งานเชื่อม งานเคาะและพ่นสี ฯลฯ เพื่อเพิ่มพูนความรู้ ความชำนาญ และ ประสบการณ์ในการทำงานกับเพิ่มรายได้ให้แก่ผู้เข้ารับการฝึกอบรมภายใต้ความดูแลของ พระดาบสอาจารย์โดยใกล้ชิด ปรากฏว่าได้ผลสมความมุ่งหมาย 

ในปี พ.ศ. 2537 ได้มีบุคคลภายนอกสนใจใช้บริการดังกล่าวมาก
เงินรายได้นี้เมื่อหักค่าใช้จ่ายแล้ว ได้จัดสรรให้กับผู้เข้ารับการฝึกอบรมเฉลี่ยตามแรงงาน เงิน จำนวนนี้ทางมูลนิธิฯ ได้เก็บรวบรวมไว้และจ่ายให้ผู้ได้รับประโยชน์เมื่อเสร็จสิ้นการศึกษา
 เพื่อให้เป็นทุนรอนในการ ประกอบอาชีพตั้งตัวต่อไป

ตอนนี้หมดข้อกังขาใดๆ 
ครั้งต่อไปถ้ามีโอกาสผ่านไปแถวนั้นอีก ผู้เขียนคงเลิกชะเง้อ เลิกเป็นคนขี้สงสัยเสียที

พสกนิกรในพระองค์ภูมิพล เป็นบุคคลสำคัญดุจลูกๆเสมอ
 พระองค์ทรงช่วยเหลือโดยไม่เลือกชั้นหรือฐานะ ยิ่งด้อยโอกาสพระองค์ก็ทรงมีพระราชดำริช่วยเหลือ และทรงติดตามการแก้ไขปัญหาอย่างใกล้ชิด เพื่อให้ประชาชนได้รับประโยชน์ความเป็นธรรมสูงสุด


ขอบคุณข้อมูล
มูลนิธิพระดาบส
ภาพจาก

วันจันทร์ที่ 19 กันยายน พ.ศ. 2554

กำลังใจ"คนรักพ่อภาคปฏิบัติ"


นานๆทีได้นั่งรถเมล์ออกจากบ้านช่วงเช้าวันอาทิตย์(ปกตินั่งเรือจากท่าน้ำนนท์)
วันหยุดของทุกคน วันที่คนกรุงเทพฯมักขอนอนตื่นสาย 
ขอพักผ่อนให้สะใจหลังจากที่อ่อนล้ามากับวันทำงาน 

ดังนั้นบรรยากาศช่วงก่อนสายของวันนี้จึงเป็นบรรยากาศสบายๆ ถนนโล่ง รถวิ่งฉิวทีเดียว
จนนึกอยากให้กรุงเทพฯเป็นแบบนี้ทุกๆวัน 

ผู้เขียนลงจากรถเมล์ที่หน้ามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ สนามหลวงมีงานอะไรกัน? 

นักปั่นจักรยานมารวมตัวกันที่นี่เต็มท้องสนามหลวงเลยทีเดียว เห็นภาพนักปั่นทั้งหลายประดับธงชาติไทย และเสียงจากโฆษกของงานดังแว่วข้ามฝั่งมาจาก ก็เข้าใจเองว่าน่าจะเป็นงานเฉลิมพระเกียรติแด่องค์สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ  ซึ่งผู้เขียนไม่ได้หยุดเสียเวลาสังเกตการณ์แต่อย่างใด และเดินข้ามถนนลัดเลาะเลียบริมกำแพงมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
เพื่อไปลงเรือที่ท่าน้ำท่าพระจันทร์ข้ามฟากไปวังหลัง

อากาศกำลังดี ไม่ร้อนแต่ออกจะเย็นสบายสายลมพัดเรื่อยริน
เหมือนอยู่ในช่วงเริ่มต้นฤดูหนาวเลยทีเดียว 

แต่วันนี้รู้สึกว่าแม่น้ำเจ้าพระยาน้ำเอ่อเต็มตลิ่ง และแปลกตากว่าที่ผู้เขียนเคยเห็น คือ การจราจรทางน้ำค่อนข้างหนาแน่นทั้งเรือพาณิชย์ เรือบรรทุกสินค้า เรือท่องเที่ยวและเรือตรวจการของทหารเรือ

ผู้เขียนไปโรงพยาบาลศิริราชทำไม ในเช้าวันหยุดที่น่าจะพักผ่อนให้สบาย  
ไม่ป่วยไม่ไข้ แต่เป็นภารกิจที่ทำเป็นปกติในวันหยุดมาหลายสัปดาห์ เป็นภารกิจที่ทำโดยไม่ต้องรอเฉลิมฉลอง ซึ่งเรามักพูดกันติดปากกันในกลุ่มเสมอว่า..รักพ่อไม่ต้องรอ..เพราะเราเป็นกลุ่มรักพ่อออกนอกหน้า เพราะเราเป็นกลุ่มรักพ่อภาคปฏิบัติ

จากเริ่มต้นผู้เข้าร่วมกิจกรรมกันเฉพาะเพื่อนในกลุ่ม นัดเจอกันที่ลานพระรูปพระราชบิดา รพ.ศิริราช
 สวดมนต์ ถวายพระพร กล่าวคำถวายสัตย์ปฏิญาณตน
แด่องค์สมเด็จพระบาทพระเจ้าอยู่หัวฯ ทุกๆวันอาทิตย์ 
ประมาณ ๓ สัปดาห์ผ่านไป เราเริ่มมีผู้เข้าร่วมกิจกรรมเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ 
เริ่มมีผู้คนเดินเข้ามาสอบถามแนวทางและกิจกรรมของเรา บางคนทราบข่าวจากเพจรักพ่อภาคปฏิบัติ บางคนเดินทางมาจากต่างจังหวัด บางคนเข้าร่วมกิจกรรมกับเราเป็นครั้ง๒ที่๓แล้ว

เป็นภาพงดงาม ประทับใจและตราตรึงอยู่ในหัวใจของเราทุกคน  เป็นความสำเร็จที่ทำให้คนทำงานทุกคนมีกำลังใจที่จะทำงานด้วยความจงรักภักดี และปกป้องพ่อของแผ่นดินอย่างเป็นรูปธรรมต่อไป
(ขอบคุณภาพจากคุณพนิจ อัศวนุชิต เด็กน้อยกำลังทอดสายตาสู่ชั้น 16 ตึกเฉลิมพระเกียรติ)


ผู้เขียนขอเป็นอีกกำลังใจให้ทุกคนที่มีส่วนร่วมในการทำงาน ขอให้ทุกคนหนักแน่น มั่นคงในจุดหมายปลายทาง ไม่หวั่นไหวต่อแรงซัดของพายุลมฝน.

วันศุกร์ที่ 16 กันยายน พ.ศ. 2554

จุดหมายคนเดินทาง

(เพื่อนร่วมทาง..เจอกันบนรถไฟ 
ความน่ารักของเด็กน้อยทำให้เราประทับใจตลอดการเดินทางคราวนั้น)


การเดินทางของคนเรามักเกิดขึ้นได้บ่อยๆ

ชีวิตทุกชีวิตเดินทางไปพร้อมๆกับกาลเวลา..เดินทางทุกๆวินาที 
และก้าวไกลออกไปทุกทีโดยตัวเราเองไม่รู้ตัว

ฉันรักการเดินทางที่พิเศษกว่าเดินทางไปพร้อมเข็มนาฬิกา คือการได้จัดกระเป๋าออกจากที่พักอาศัย ออกไปจากความจำเจ ออกไปจากสรรพเสียงและสิ่งแวดล้อมเดิมๆไปสู่สิ่งแวดล้อมใหม่ๆ
เป็นความตื่นตาตื่นใจ 

แม้แต่การเดินทางกลับภูมิลำเนา ทุกครั้งของเดินทางฉันมักเลือกที่จะเดินทางโดยรถไฟ 
นอกจากราคาประหยัดกว่าการเดินทางด้วยเครื่องบินและรถบัสแล้วสิ่งที่ชอบเป็นพิเศษ
คือความเรื่อยเปื่อย ถึงก็ช่างไม่ถึงก็ช่างของรถไฟ 
เสียงหวูดรถไฟ เสียงฉึกฉักของขบวนรถ บรรยากาศเขียวชะอุ่ม ครึ้มเขียวของป่าเขาระหว่างผ่านทาง แม้แต่เสียงนายสถานีแต่ละสถานีร้องบอกว่า..ขณะนี้ท่านอยู่สถานีใดและสถานีต่อไปเป็นสถานีใด..
ก็เป็นเสน่ห์ยากจะหาใดเปรียบโดยเฉพาะเมื่อเดินทางเข้าสู่เขตภาคใต้..สำเนียงของนายสถานีพูดภาษากลางปนสำเนียงใต้อย่างที่เขาเรียกว่าพูดทองแดง
เป็นความน่ารักและชวนให้ยิ้มขันของผู้คนที่ได้ยินเป็นครั้งแรก

การเดินทางโดยรถไฟ เรามักมีเพื่อนร่วมทางหลากหลายและนั่งเป็นเพื่อนคุย หรืออาจหลบฉากการพูดคุยถ้าเจอเพื่อนร่วมทางช่างเจรจามากเกินไปด้วยการฟังเพลง อ่านหนังสือ 
ระยะทางจากเมืองกรุงถึงบ้านฉันใช้เวลาร่วม ๑๘ ชั่วโมง ทั้งนั่งและนอนและคิดทบทวน เรื่องราวผ่านมาได้เยอะทีเดียว
DSCN0685
บรรยากาศการเดินทางในทุกๆคราวมักแตกต่างกัน บางครั้งก็มีความสุขและประทับใจ แต่บางครั้งเกิดความไม่พอใจ..แต่เราต้องอดทน แม้จิตรุ่มร้อนก็ต้องอดกลั้น ด้วยการรวบรวมใจกำหนดจิตให้อยู่ในความสงบแม้ต้องนับหนึ่งถึงร้อยถึงพันก็ตาม

การเดินทางทำให้เราได้ทบทวนว่า..เรากำลังอยู่บนเส้นทางอีกเส้นหนึ่งของการเดินทางของชีวิต 
อยู่ในฉากหนึ่งมุมหนึ่งของละครชีวิตของแต่ละคน 
ซึ่งทั้งเขาทั้งเราอาจเพียงแต่แยกกันเดินในหนทางที่แตกต่างกัน

 แต่สุดท้าย..ปลายทางและจุดจบ..คือการกลับสู่ดินเหมือนกัน



ฟาร์มตัวอย่าง"บ้านน้ำดำ"ปัตตานี


ปัตตานี จังหวัดหนึ่งในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่มีเหตุการณ์ร้อนระอุเกิดขึ้นเสมอๆจากสถานการณ์ที่ไม่เคยสงบสุขของคนในพื้นที่ คนบาดเจ็บ พิการและเสียชีวิตมีมากจนกระทั่งความกลัวของคนในพื้นที่กลายเป็นความชาชิน นิ่งเฉยกับความกลัว  และเจ็บปวดกับความเป็นความตาย 
แต่ที่ร้ายไปกว่านั้นคือความระแวงของคนในพื้นที่กันเอง นั่นคือความแตกแยกของคนในพื้นที่ ที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน 

ตั้งแต่ มกราคม 2547 เป็นต้นมาคนในพื้นที่ทั้งคนเมือง คนชนบท ต้องอดทน และหวาดผวากับเสียง ปืน เสียงระเบิดและความเจ็บความตาย 



จากสถานการณ์การก่อการร้ายจากกลุ่มผู้ไม่หวังดีต่อบ้านเมือง มีข่าวร่ำลือเกิดขึ้นเสมอว่า
ผู้คนอพยพหนีออกจากพื้นที่ ไม่แปลกถ้าเขากลัวเพราะเราไม่อาจรู้ตัวว่าความตายจะเกิดขึ้นกับเรา
 กับญาติพี่น้องเมื่อใด 
แต่ผู้คนที่ย้ายออกโดยส่วนใหญ่แล้วไม่ใช่ชาวปัตตานีโดยกำเนิด ไม่มีรากฐานอยู่ที่นั่น 
ซึ่งอาจเพียงแต่มาอยู่อาศัยเพื่อประกอบอาชีพ  
ถ้าถามผู้เขียนในฐานะที่เป็นคนที่นี่โดยกำเนิดและอีกหลายๆครอบครัว ยังคงดำเนินชีวิตอยู่ที่นี่โดยไม่มีใครคิดหนีไปไหน ทำให้ผู้เขียนนึกถึง..คำว่า สุดแผ่นดิน จะให้เราย้ายไปไหน ทั้งที่ปัจจุบัน เรากำลังถูกรุกรานทั้งเหนือ อีสานและใต้ 


เพื่อนๆเคยล้อเล่นและประชดประชันเจ้าหน้าที่บ้านเมือง ว่านานๆกลับบ้านที..
อาจต้องใช้พาสปอร์ตกลับบ้านตัวเอง นั่นหมายความว่า ไม่ว่าเกิดอะไรขึ้นกับบ้านเกิดของเรา 
เราก็ไม่ย้ายหนีไปไหนเด็ดขาด

ท่ามกลางเสียงปืน ระเบิดและความตาย หยาดน้ำพระทัยอันเย็นชื่นฉ่ำใจได้รินรดลงสู่ใจกลาง
ของชุมชน ชาวบ้านที่เดือดร้อน 

ในวันที่ 24 กันยายน 2547 
เมื่อสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ พร้อมด้วย สมเด็จเจ้าฟ้าหญิงจุฬาภรณ์วลัยลักษณ์ฯ 
ได้เสด็จที่วัดสุนันทาราม บ้านน้ำดำ หมู่ที่ 3 ตำบลปุโละปุโย อำเภอหนองจิก จังหวัดปัตตานี 
เพื่อนมัสการพระสงฆ์ ถวายจตุปัจจัย 
ทรงเยี่ยมราษฎรที่มาเฝ้ารับเสด็จและทรงงานศิลปาชีพ ได้ทรงรับทราบความเดือดร้อนของราษฎรจาก นายสหัส บุญญาวิวัฒน์ ผู้ช่วยเลขาธิการพระราชวังฝ่ายกิจกรรมพิเศษ และนายเทอดศักดิ์ บุญยขจร วิศวกรใหญ่ด้านวางแผนและโครงการ กรมชลประทาน 
ว่าพื้นที่ทำการเกษตรของราษฎรยังประสบปัญหาคือ น้ำท่วมขังพื้นที่ทำนา การใช้น้ำจากคูส่งน้ำไม่สะดวก ในการนี้ สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ได้มีกระแสรับสั่งให้ กรมชลประทานแก้ปัญหาระบบน้ำ และให้กรมพัฒนาที่ดินจัดตั้งฟาร์มตัวอย่างฯ 
วันที่ 25 มกราคม 2549 พลเรือโท ศุภนิตย์ จูฑะพุทธิ พร้อมด้วย พันเอก อรรถพร โบสุวรรณ พล.ต.ต.เดชชัย พวงพัฒน์  และคณะฯ ได้เดินทางมาสำรวจสภาพพื้นที่เบื้องต้น  บริเวณหมู่ที่ 3  ตำบลปุโละปุโย  อำเภอหนองจิก จังหวัดปัตตานี  ตามที่นางเพ็ญจันทร์  จันทร์สุกระ  ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน  ม.3  ได้ร้องเรียนว่า  ปัจจุบันสถานการณ์ในพื้นที่ไม่เป็นที่ไว้วางใจราษฎรในพื้นที่ถูกประทุษร้ายแล้วหลายคน  
ราษฎรในหมู่บ้านไม่กล้าออกไปประกอบอาชีพนอกบ้านทำให้ราษฎรเดือดร้อนและขาดรายได้เลี้ยงชีพ  จึงขอให้จัดตั้งฟาร์มฯในพื้นที่  
โดยมีราษฎร  ประมาณ  30  ราย ได้ร่วมกันมอบที่ดินประมาณ  100  ไร่  ให้กับโครงการฯ  และจะขอใช้พื้นที่ราชพัสดุ  โดยการครอบครองของกรมชลประทานอีกประมาณ  100  ไร่  
ซึ่งมี พลเอก ณพล  บุญทับ รองสมุหราชองครักษ์ในสมเด็จพระนางเจ้าฯ  พระบรมราชินีนาถ
ได้เดินทางมาตรวจความก้าวหน้าของฟาร์มฯและสั่งการ
ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องรีบดำเนินการโดยเร็ว


จากการเสด็จในคราวนั้นจึงได้เกิด..
โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ  “สมเด็จพระนางเจ้าฯ  พระบรมราชินีนาถ”
ชื่อโครงการ โครงการฟาร์มตัวอย่างในสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ (บ้านน้ำดำ)

โดยวัตถุประสงค์ของโครงการ
1. เพื่อช่วยเหลือราษฎรที่ได้ความเดือดร้อนจากเหตุการณ์ความไม่สงบให้มีงานทำมีรายได้ 
2. เพื่อสร้างทางเลือกในการประกอบอาชีพให้กับราษฎร 
3. เพื่อเป็นแหล่งศึกษา  หาความรู้ทางด้านการเกษตร 
4. เพื่อเป็นแหล่งผลิตอาหารปลอดภัยให้กับชุมชน

นับตั้งแต่มีโครงการนี้เกิดขึ้น ทำให้ชาวบ้านไม่ต้องเดินทางออกไปทำงานนอกพื้นที่ 
ไม่ต้องเสี่ยงระหว่างการเดินทาง คนรอที่บ้านก็ไม่ต้องคอยเป็นห่วง ชะเง้อหาเพราะกลับบ้านผิดเวลา 

นอกจากในฟาร์มมีพืช ผักปลอดสารพิษ และสัตว์เลี้ยง ทั้งแกะและแพะ รวมทั้งสัตว์ปีก บ่อปลา 
หลากหลายชนิด ทั้งขายปลีก ขายส่งราคาถูก เป็นทางเลือกหนึ่งของผู้บริโภค
ทั้งในชุมชนและตลาดสดในเมือง แล้ว

ต่อมาปี ๒๕๔๙ หลังจากสมเด็จพระนางเจ้าฯบรมราชินีนาถ ได้มีพระราชเสาวนีย์ที่แสดงให้เห็นถึงพระปณิธานและน้ำพระทัยที่ทรงห่วงใย “ครูใต้” ซึ่งเสี่ยงอันตรายสอนหนังสืออยู่ในพื้นที่ พระองค์จึงพระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์เพื่อจัดสร้าง 
“โครงการหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียงสำหรับข้าราชการครู” หรือ “ศูนย์ครูใต้” 
ขึ้นเป็นแห่งแรกในโครงการฟาร์มตัวอย่างในพระราชดำริ 

เคยฟังเพื่อนๆที่เป็นครูมักบ่นเสมอว่า ทำใจแล้ว เพราะทุกครั้งที่ออกจากบ้านคิดเสมอว่ายังไม่รู้จะได้กลับเข้าบ้านแบบไหน เมื่อตกเย็นกลับถึงบ้านก็ได้แต่ถอนใจโล่งอก..เฮ้อ..รอดอีกวันแล้วเรา 
คนฟังก็รู้สึกหดหู่ในหัวใจ

ศูนย์ครูใต้ มีบ้านพักครู ปลูกตั้งอยู่ริมคลองชลประทาน มีห้องสมุด บริการอินเตอร์เนต มีมินิมาร์ท ร้านเสริมสวยสิ่งอำนวยความสะดวกครบครัน
โดยเฉพาะโรงเรียน มีตั้งแต่ระดับอนุบาล-ประถม๖ 
และเด็กเล็ก เด็กโต พ่อแม่ ไม่ต้องเป็นกังวลกับการหาที่เรียน ไม่ต้องกังวลกับการรับส่งลูกหลานไปกลับในเมืองและบ้าน

ด้วยน้ำพระทัยและพระมหากรุณาธิคุณแห่งสมเด็จพระนางเจ้าฯพระบรมราชินีนาถ 
คู่พระบารมีในหลวงภูมิพล ที่ทรงห่วงใยความเดือดร้อนของประชาชน ทรงแก้ปัญหา ทรงจัดหา ปรับปรุงแหล่งที่ทำกิน และทรงจัดหาที่อยู่อาศัยการศึกษาเพื่อความปลอดภัยของพสกนิกรในพระองค์ 

ประชาชน ชาวบ้านในชุมชนละแวกใกล้เคียงจึงได้อยู่อาศัยกันอย่างอบอุ่นใจ
รู้สึกมั่นใจและมั่นคงมากขึ้น


ขอขอบคุณข้อมูลอ้างอิงจาก
โต๊ะข่าวภาคใต้ สถาบันอิศรา
และ


วันพุธที่ 14 กันยายน พ.ศ. 2554

เห่เรือและกระบวนพยุหยาตรา ประเพณีวัฒนธรรมไทยโบราณ


ทุกครั้งที่ได้ยินสำเนียงเสียงเห่เรือดังแว่วมา..ผู้เขียนต้องขยับตัวหาต้นเสียง ขอฟังดังๆ ชัดๆ 
เสน่ห์ของการ..เห่เรือ อยู่ตรงไหนใครรู้บ้าง?
หรือเพราะการผสมเสียงขับร้องขับขานที่เข้มแข็ง ประสานกับเสียงเครื่องดนตรีไทยอันไพเราะซึ่งมีเสน่ห์
เป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวอยู่แล้ว 

การเห่เรือ..คือ ทำนองของการร้องหรือ ออกเสียงประกอบการให้จังหวะแก่ฝีพายในการพายเรือ   ซึ่งเป็นองค์ประกอบที่สำคัญยิ่ง ในการพายเรือพระราชพิธีกระบวนพยุหยาตราทางชลมารค  ช่วยผ่อนแรงในการพายเรือระยะทางไกลๆ ได้อีกด้วย

การเห่เรือ..ทำให้เรานึกถึงกระบวนพยุหยาตราทางชลมาคอันยิ่งใหญ่และอลังการของพระมหากษัตริย์ ซึ่งเป็นประเพณีที่สืบทอดกันมาตั้งแต่สมัยโบราณกาล

กระบวนพยุหยาตราชลมารค เป็นกระบวนเสด็จพระราชดำเนินทางน้ำที่เป็นราชประเพณีไทยที่มีมาแต่โบราณ ตั้งแต่สมัยอยุธยา 


กระบวนพยุหยาตราชลมารค มีหลักฐานมาตั้งแต่สมัยกรุงสุโขทัย ปรากฏไว้ว่า พระร่วงเจ้า (พระมหาธรรมราชา 1) ทรงใช้เรือออกลอยกระทง หรือพิธีจองเปรียง ณ กลางสระน้ำ พร้อมทั้งเผาเทียนเล่นไฟในยามคืนเพ็ญเดือนสิบสอง

ในยุคกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี ตามพงศาวดารได้บันทึกไว้ว่า สมเด็จพระนเรศวรเมื่อคราวเสด็จไปตีเมืองเมาะตะมะ เสด็จพระราชดำเนินจากกรุงศรีอยุธยาโดยชลมารค พอได้เวลาฤกษ์ พระโหราราชครูอธิบดีศรีทิชาจารย์ ก็ลั่นกลองฆ้องชัยให้พายเรือพระที่นั่งศรีสุพรรณหงส์ อันเป็นเรือทรงพระพุทธปฏิมากรทองนพคุณ บรรจุพระบรมสารีริกธาตุถวายพระนามสมญา “พระพิชัย” นำกระบวนออกไปก่อนเพื่อความเป็นสิริมงคล

ระหว่างการเคลื่อนกระบวนก็มีการเห่เรือพร้อมเครื่องประโคม จนเกิดวรรณกรรมร้อยกรองที่ไพเราะยิ่ง คือ กาพย์เห่เรือ ของ เจ้าฟ้าธรรมธิเบศร์ หรือเจ้าฟ้ากุ้ง ในสมัยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ ตอนปลายสมัยกรุงศรีอยุธยา ซึ่งบรรยายถึงความงดงาม และลักษณะของเรือในกระบวนครั้งนั้น และบทเห่เรือนี้ยังเป็นแม่แบบของกาพย์เห่เรือที่ใช้กันในปัจจุบัน

"กระบวนพยุหยาตรา" ที่มีในรัชกาลปัจจุบันนั้น ส่วนมากจะเป็นการเสด็จไปทอดผ้าพระกฐิน ณ วัดอรุณราชวราราม และ พิธีสำคัญๆ อย่างเช่น การฉลองสิริราชสมบัติครบ 50 ปี กาญจนาภิเษก และ พระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ

กระบวนพยุหยาตราฯในสมัยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช มีกระบวนพยุหยาตราฯเกิดขึ้นมาแล้ว 14 ครั้ง โดยครั้งแรก เมื่อวันที่ 14 พ.ค. 2500 
ซึ่งทางราชการได้จัดขึ้นเนื่องในงานฉลอง 25 พุทธศตวรรษ 

หากว่าพระองค์ไม่ได้เสด็จประทับด้วยในเรือพระที่นั่ง  ทางสำนักพระราชวังให้เรียกว่า การแสดงขบวนเรือพระราชพิธี ไม่ใช่กระบวนพยุหยาตราชลมารค  ดังเช่นคราวที่แสดงกระบวนเรือต้อนรับผู้นำเอเปค ซึ่งพระองค์ทรงเสด็จทอดพระเนตรร่วมกับพระราชอาคันตุกะจากต่างประเทศที่อาคารราชนาวิกสภา 

และงานพระราชพิธีทรงบำเพ็ญพระราชกุศลถวายผ้าพระกฐิน ไปยังวัดอรุณราชวรารามฯ 
ในวันที่ 5 พ.ย. 2550 จึงถือเป็นกระบวนพยุหยาตราครั้งที่ 15 ในรัชกาลปัจจุบัน 
ซึ่งยิ่งใหญ่กว่าการแสดงกระบวนเรือแสดงรับผู้นำเอเปค 

“งานพระราชพิธีทรงบำเพ็ญพระราชกุศลถวายผ้าพระกฐิน” นับเป็นกระบวนพยุหยาตราทางชลมารค (ใหญ่) อีกครั้งหนึ่ง ที่มีการนำเรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์เป็นเรือพระที่นั่งทรง เรือพระที่นั่งนารายณ์ทรงสุบรรณรัชกาลที่ 9 เป็นเรือพระที่นั่งรอง และเรือพระที่นั่งอนันตนาคราช เป็นเรือทรงผ้าไตร มีการจัดกระบวนเรือพระราชพิธีกระบวนใหญ่ ใช้เรือพระราชพิธีและเรือพระที่นั่ง รวม 52 ลำ จำนวนฝีพาย 2,082 นาย พร้อมทั้งมีการจัดทำบทกาพย์เห่เรือใหม่ เพื่อเฉลิมพระเกียรติในวโรกาสมหามงคลนี้โดยเฉพาะ

ขบวนพยุหยาตราทางชลมารคและการเห่เรือนั้นเป็นเอกลักษณ์ของชาติ 
เอกราชทางดินแดน และมรดกทางวัฒนธรรมแห่งปัญญาของสยามประเทศ ใช้เวลาบ่มเพาะมานานหลายร้อยปีจากการดำเนินพระราโชบายอันชาญฉลาดของพระมหากษัติย์ไทย ตลอดจนจากภูมิปัญญาของบรรพชนอันควรค่าแก่การเทิดทูนบูชาและ จารึกไว้ในจิตสำนึกของอนุชน รุ่นหลัง 

ด้วยความงดงามของประเพณี วัฒนธรรมไทยที่มีมาแต่โบราณกาล จึงสมควรแล้วที่คนไทยและอนุชนรุ่นต่อไปๆ จะช่วยกันรักษา ไว้ซึ่งเอกลักษณ์ที่มิอาจหาชาติใดมาเปรียบได้
และร่วมใจกันปกป้องสถาบันพระมหากษัตริย์ไทย 
และความเป็นไทยให้ดำรงอยู่กับชาติ สืบต่อไป



ขอขอบคุณข้อมูลอ้างอิงจากวิกิพิเดีย
ข้อมูลและภาพอ้างอิงจาก


วันอังคารที่ 13 กันยายน พ.ศ. 2554

ไกลกังวลหรือใกล้กังวล



”ตั้งชื่อไกลกังวลออกจะผิดไปเสียแล้ว ที่จริงดูเหมือนจะใกล้กังวลมากกว่า” 
พระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว

บ้านเราเมืองเรา มีประวัติศาสตร์ที่น่าสนใจมากมาย ตั้งแต่อดีตจนถึงวันนี้ซึ่งจะเป็น
ประวัติศาสตร์ให้คนรุ่นหลังได้ศึกษาเรียนรู้และสำนึกรักหวงแหนความเป็นชาติไทยต่อๆไป..

มีความรู้เล็กๆเกี่ยวกับที่มาที่ไปของของพระราชวังไกลกังวล หัวหิน
จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ซึ่งทีความเกี่ยวข้อง เกี่ยวพันกับประวัติศาสตร์ของการเปลี่ยน
แปลงการปกครองที่สำคัญของประเทศไทยในสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่๗
ในราชวงศ์จักรี กษัตริย์ของสยามประเทศอีกพระองค์หนึ่งที่มีพระจริยวัตรที่งดงาม
น่าประทับใจ และพระบารมีล้นเกล้าชาวพสกนิกรไทย


วังไกลกังวล สวนไกลกังวลหรือพระราชวังไกลกังวล  
เป็นพระราชนิเวศน์ที่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว 
ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าให้สร้างขึ้นในปี ๒๔๖๙ 
และแล้วเสร็จจนถึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าให้มีการตั้งการ 
พระราชพิธีคฤหมงคลขึ้นที่พระตำหนักเปี่ยมสุข สวนไกลกังวล 
เมื่อวันที่๑๐และ๑๑เดือนเมษายน พ.ศ.๒๔๗๒ 

พระตำหนักเปี่ยมสุข เป็นที่ปรระทับของพระบาทสมเด็จ พระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวและ
สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณีพระบรมราชินี เป็นสถาปัตยกรรมแบบสเปน เป็นตึกสูง
สองชั้น มีหอสูงสำหรับเสด็จพระราชดำเนินขึ้นไปประทับเล่นและทอดพระเนตรไปรอบด้าน

วังไกลกังวลนั้น..เกี่ยวข้องกับประวัติศาสตร์การเปลี่ยนแปลง 
การปกครองครั้งใหญ่ จากระบอบการปกครองสมบูรณญาสิทธิราชมา 
เป็นระบอบประชาธิปไตยโดยกลุ่มบุคคลที่เรียกตัวเองว่าคณะราษฎร์ 
ยึดอำนาจเมื่อวันที่๒๖ มิถนายน ๒๔๗๕ ในขณะที่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่
หัวประทับอยู่ที่วังไกลกังวลและคณะปฏิวัติส่งเรือรบหลวงสุโขทัยมารับเสด็จพระองค์
ท่าน กลับทางเรือ แต่พระองค์ท่านปฏิเสธและเสด็จกลับกรุงเทพฯ โดยทางรถไฟ 

หลังจากการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยความยินยอมและเสียสละ 
ของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ทั้งพระประสงค์
ของพระองค์ท่านที่มีมาตั้งแต่เดิมว่าจะเปลี่ยนให้มีการปกครองอยู่ภายใต้ 
การปกครองของรัฐสภาอยู่ด้วยแล้วนั้นบ้านเมืองก็ยังมีเรื่องวุ่นวายตลอดมาหาความสุข
สงบไม่ได้จนพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวมีพระราชดำรัสว่า
”ตั้งชื่อไกลกังวลออกจะผิดไปเสียแล้ว ที่จริงดูเหมือนจะใกล้กังวลมากกว่า” 

ปัจจุบันพระราชวังไกลกังวลเป็นที่ประทับแปรพระราชฐานและปฏิบัติพระราชกรณียกิจ
ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช สมเด็จพระนางสิริกิต์ พระบรมราชินีนารถ
และพระบรมวงศานุวงศ์ ทุกพระองค์ 

ด้วยพระบารมีปกเกล้าฯพระมหากษัตริย์ในแผ่นดินสยามทรงเป็นกษัตริย์ผู้เปี่ยมด้วยพระเมตตา และทรงเสียสละความสุขส่วนพระองค์เพื่อความมั่นคง ยั่งยืนของชาติและประชาชน

ข้อมูลอ้างอิงจากหนังสือ ตามรอยเบื้องพระยุคลบาท พระบาทสมเด็จฯพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว
โดย ส.พลายน้อย
ภาพจาก อินเตอร์เน็ต
(บทความเก่าของผู้เขียน http://mblog.manager.co.th/warintirak/th-59106/)

วันจันทร์ที่ 12 กันยายน พ.ศ. 2554

เปิดบันทึกของคน"รักพ่อภาคปฏิบัติ"

รักพ่อออกนอกหน้า กระทั่งก้าวออกมาเป็น"รักพ่อภาคปฏิบัติ" 
อย่างเป็นรูปธรรม


เกิดจากคนกลุ่มคนสังคมออนไลน์ Facebook ที่มีความรักชาติ หวงแหนแผ่นดิน และจงรักภักดีต่อพ่อองค์พระภูมิพล เกิดจากอุดมการณ์ และมุ่งมั่น ในเจตนารมย์ มุ่งมั่นในอุดมการณ์อย่างแรงกล้า ยึดมั่นในความเป็นธรรมของสังคม ยึดความถูกต้องในการก้าวเดินในแต่ละย่างก้าว ได้รวมตัวกันเป็นกลุ่ม เป็นก้อน ร่วมกิจกรรมพิสูจน์ความตั้งใจ พิสุจน์หัวใจกันมา

ถึงวันนี้เรามั่นใจและขอคารวะในน้ำใจอันหาญกล้าของทุกคน

ระหว่างทาง ระหว่างการทำงาน ได้เกิดคำถามขึ้นมาจากเพื่อนๆที่เฝ้าดูกิจกรรมของเรามาระยะหนึ่ง

ทำงานกันหรือเปล่า หรือนี่คืองาน?
ใครสนับสนุนค่าใช้จ่าย??

คำตอบ...เราเป็นกลุ่มกิจกรรมอิสระ ทุกคนมีหน้าที่การงาน แต่ทุกคนมีจิตสาธารณะ มีจิตอาสา 
เสียสละความสุขส่วนตัวในวันหยุด เสาร์ อาทิตย์ เพื่อเข้าร่วมกิจกรรม สละเวลาบางเวลาถ้ามีเรื่อง
เร่งด่วนต้องปฏิบัติการ

ไม่มีใครสนับสนุนค่าใช้จ่าย ค่าใช้จ่ายใดๆที่เกิดขึ้นจากการทำงาน เพื่อนๆในกลุ่มช่วยกันสนับสนุน
ตามกำลัง หรือเพื่อนๆ พี่ๆ อยู่ต่างประเทศ อยู่ต่างจังหวัด ไม่สามารถมาร่วมกิจกรรมได้แต่ขอมี
ส่วนร่วมบ้างก็ช่วยสนับสนุนเข้ามาบ้างตามกำลังและความจำเป็น ค่าเดินทาง ค่าน้ำมันรถ ค่าอาหาร
 หรือค่าใช้จ่ายใดๆ ใช้จ่ายเงินส่วนตัวกันทั้งสิ้น  
ทุกคนมีมุ่งมั่น ก้าวออกมาเดินเส้นทางสายนี้  เพราะ..จุดหมาย ปลายทาง คือแสดงความจงรักภักดี
และปกป้องพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯอย่างเป็นรูปธรรม ร่วมกัน

ปัญหาส่วนตัว บางครั้งเป็นเรื่องใหญ่...แต่ปัญหาใหญ่กว่าคือชาติบ้านเมืองและส่วนรวม

รักพ่อภาคปฏิบัติ..ทำกิจกรรมเป็นรูปธรรมมาแล้วหลายอย่าง ที่เห็นเป็นข่าวว่อนบนโลกไซเบอร์
และเป็นเป้าหมายการโจมตีซึ่งอาจนำอันตรายมาสู่ผู้ปฏิบัติการนั่นคือ การออกไปตามเช็ด ตามล้าง 
ขัดถู ป้ายหรือกำแพงที่ถูกขีดเขียน พ่นสเปรย์ ไม่เอา มาตรา 112 และใช้คำหยาบคาย ส่อเสียดถึง 
สถาบันกษัตริย์ การนัดกันเข้าชมภาพยนตร์ และนำร้องเพลงสรรเสริญให้กึกก้องเพื่อกระตุ้นต่อมสำนึกของคนรักพ่อหลวง การไปถวายพระพรและถวายสัตย์ต่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯที่โรงพยาบาลศิริราช ทุกๆวันอาทิตย์ เพื่อเป็นแบบอย่างให้คนรักพ่อ กล้าลุกขึ้นมาทำอะไรที่เป็นรูปธรรมเพื่อพ่อบ้าง หรือการเขียนบทความเทิดพระเกียรติองค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯให้แพร่กระจายออกสู่สังคมออนไลน์ให้มากที่สุด และเรายังมีกิจกรรมอื่นๆที่ยังอยู่ในระหว่างการผลิตงานออกสู่สังคม
ต่อไปในเร็ววันนี้

กิจกรรมของกลุ่มคนรักพ่อภาคปฏิบัติ..ถูกนำไปเผยแพร่ต่อโดยคนกลุ่ม "คนไทย ร่วมต่อต้าน 
เพ็จหมิ่น เวปหมิ่นสถาบัน"   http://ut9.us/hqg
เสมือนว่าเป็นกิจกรรมของเขา โดยไม่เคยมาเจรจาขอร่วมกิจกรรม ขออนุญาต หรือขอความร่วมมือ
ภาพปฏิบัติการ ล้าง เช็ด ขัดถู ข้อความไม่เอามาตรา ๑๑๒ และข้อความหมิ่น เสียดสี สถาบันกษัตริย์)

เมื่อเป็นเช่นนั้น จึงเป็นเหตุให้ฝ่ายไม่รักพ่อ นำกิจกรรมของเราไปผูกโยงกับการที่ มีการจับกุมชายคนหนึ่งอายุราว 40 ปี สมาชิก facebook ด้วยข้อหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ โดยการกล่าวหาว่า กลุ่มกิจกรรมรักพ่อภาคปฏิบัติ   เป็นกลุ่มที่เป็นเหตุให้มีการจับกุม โดยอ้างอิงโพสต์ของกลุ่ม 

คนไทย ร่วมต่อต้าน เพ็จหมิ่น เวปหมิ่นสถาบัน
ข่าวดี วันนี้ทางกลุ่มพี่ๆ ที่ทำเรื่องเกี่ยวกับการสืบหา และจับพวกหมิ่น ซึ่งได้ดำเนินการติดต่อไปยัง Facebook ทางสหรัฐ และทางโน้นเค้าให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี ได้แจ้ง IP-Address รวมไปถึงพิกัดของผู้ทำเพจ Facebook หมิ่นในหลวงของเรา ซึ่งวันนี้ ทีมงานของพี่ ๆ เค้า ได้นำตำรวจเข้ารวบตัวในที่พักแถวลาดพร้าวได้ 1 รายแล้วครับ เป็นชายหนุ่ม อายุประมาณ 40 ปี ใช้ชื่อเพจว่า "เราจะครองแผ่นดินโดย......." และ จะติดตามรายอื่นๆ ต่อไป

ในฐานะที่ผู้เขียนเองก็เข้าร่วมกิจกรรมกลุ่มรักพ่อปฏิบัติตั้งแต่แรกเริ่ม ขอเปิดใจแทน
คนรักพ่อภาคปฏิบัติ และคนรักพ่อทุกส่วนว่าเราไม่มีส่วนเกี่ยวข้องใดๆกับกลุ่ม 
"คนไทย ร่วมต่อต่อต้าน เพ็จหมิ่น เวปหมิ่นสถาบัน"
 และเราไม่ใช่ส่วนเกี่ยวกับข้องการเข้าจับกุมดำเนินคดีผู้กระทำผิด หมิ่น 
จาบจ้วงสถาบันเบื้องสูงดังที่
 Thai E News. http://thaienews.blogspot.com/2011/09/facebook.html นำเสนอข่าวแต่อย่างใด

รักพ่อภาคปฏิบัติ  เราไม่รังเกียจหรือปิดกั้นการแสดงออกถึงการรักพ่อ ไม่ได้สงวนสิทธิ์การรักพ่อไว้เพียงกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งและเราต้องการแนวร่วมจิตบริสุทธิ์ร่วมงานกับเราอีกจำนวนมาก เพียงแต่เดินขอให้เดินไปด้วยกันด้วยความบริสุทธิ์ใจต่อกัน
ทั้งพูดคุย หารือเรื่องแนวทางการทำงานร่วมกันอย่างเป็นกิจลักษณะ 



(ภาพการร่วมถวายสัตย์ฯ ล่าสุด ๑๑ กันยายน ๒๕๕๔)


ดังนั้นเราขอเชิญชวนคนรักพ่อออกมาปฏิบัติหน้าที่ของลูก ด้วยการสวดมนต์ การถวายพระพร
ถวายสัตย์ปฏิญาณตน ต่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ณ โรงพยาบาลศิริราช
 ทุกวันอาทิตย์ เวลา ๑๐ โมงเช้า พบกัน ณ ลานพระบรมรูปพระราชบิดา
จากนี้ไปจนกระทั่งถึงเดือนธันวาคม ๒๕๕๔


วันอาทิตย์ที่ 11 กันยายน พ.ศ. 2554

โครงการหลวง"ปางอุ๋ง"เชียงใหม่

เพราะการเดินทางคือกำไรของชีวิต
เพราะการเดินทางคือการได้เก็บเกี่ยวประสบการณ์ระหว่างช่วงเวลาที่หมุนผ่านไป


ต้นฤดูหนาวของปี มีแผนไปเที่ยวแม่ฮ่องสอน แต่ผู้เขียนเป็นไข้หวัดใหญ่รับฤดูกาล นอนซมเป็นอาทิตย์ แม้กระนั้นก็เถอะฟื้นไข้ได้ก็จัดกระเป๋าขึ้นรถทัวร์ไปกับเพื่อนๆโดยไม่มีเงื่อนไข

การเดินทางแต่ละครั้ง แม้บางครั้งเจออุปสรรคระหว่างทาง แต่ในขณะเดียวกันก็เก็บความประทับใจใส่ความทรงจำกลับมาเสมอ

"  ปางอุ๋ง"   เป็นศูนย์พัฒนาโครงการหลวง อยู่ในเขตตำบลแม่ศึก อำเภอแม่แจ่ม จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งในคราวนั้นเราเที่ยวแม่ฮ่องสอน แต่ช่วงเช้าตรู่ ได้นั่งรถย้อนจากแม่ฮ่องสอนไปยังปางอุ๋ง ขึ้นเขาขึ้นดอยฝ่าความมืดไปท่ามกลางความเหน็บหนาว ใช้เวลาเกือบ ชม.และนั่งรถกลับในช่วงสายๆ กลับมานั่งบ่นเสียดายว่า ทำไมเราไม่หิ้วเต๊นท์หรือติดต่อที่พักมานอนสัมผัสอากาศหนาวเหน็บ  จิบชาร้อน ๆ นั่งนับดาวในยามค่ำคืนและตื่นมาสูดบรรยากาศดีๆ  สดชื่น ให้เต็มปอด ที่นี่กันนะ


โครงการหลวงเกิดขึ้นได้อย่างไร?

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ทรงเป็นพระมหากษัตริย์ที่ไม่ทิ้งประชาชน  พระองค์เสด็จเยี่ยมประชาชนทุกแห่งหน ไม่ว่าจะเป็นพื้นที่ห่างไกล การเดินทางจะลำบากลำบนเพียงใด
และในขณะที่พระองค์เสด็จไปเยี่ยมประชาชนในเขตภาคเหนือนั้น ได้ทรงทอดพระเนตรเห็นชาวเขามีวิถีการดำเนินชีวิตเป็นประเพณี คือเร่ร่อนไปอยู่ตามเทือกเขาสูงและห่างไกลสังคมเมือง แม้จะเป็นไปโดยธรรมชาติแต่ไม่เป็นผลดีกับตัวเขาเองและถิ่นที่อยู่อาศัย ขาดการศึกษา สุขพลานามัยที่ดี ขาดความเข้าในที่จะรักษาดิน น้ำและป่า  ซึ่งเป็นแหล่งต้นน้ำลำธารของแม่น้ำหลายสายในภาคเหนือและเป็นแหล่งน้ำที่หล่อเลี้ยงเกษตรกรรมในเขตที่ราบลุ่มของภาคกลาง อีกทั้งชาวเขามีอาชีพทำการเกตรเลื่อนลอย มีการถากถางทำลายป่า เพื่อปลูกฝิ่นซึ่งเป็นสิ่งเสพติดมอมเมาทำลายเยาวชนของชาติอันเป็นอันตรายร้ายแรงของประเทศและโลก และยากต่อการเข้าไปควบคุม  และยากต่อการเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิต  เพราะชาวเขาไม่เข้าใจถึงเป็นชาติไทยเป็นคนไทย  และกฎหมายบ้านเมืองของประเทศที่ตนอาศัยอยู่นั่นเอง

จากที่ได้ทรงทอดพระเนตรเห็นถึงสภาพความเป็นจริงและทรงเข้าพระราชหฤทัยในปัญหาความทุกข์ยากของราษฎร  จึงทรงโปรดเกล้าฯ  ตั้งโครงการหลวงขึ้นเป็นโครงการส่วนพระองค์เมื่อปี  ๒๕๑๒  โดยใช้พระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ และเงินที่ได้รับการสนับสนุนจากราษฎร  รัฐบาลไทย  และรัฐบาลต่างประเทศร่วมกัน  โครงการพัฒนาเศรษฐกิจชาวเขาไทยภูเขาขององค์การสหประชาชาติ  
โดยในระยะเริ่มแรกนั้นมีหม่อมเจ้าภีศเดช  รัชนี  เป็นผู้รับสนองพระบรมราชโองการในตำแหน่ง
ผู้อำนวยการโครงการหลวง 


เป้าหมายของโครงการ

         ๑. ช่วยชาวเขาเพื่อมนุษยธรรม
         ๒. ช่วยชาวเขาโดยลดการทำลายทรัพยากรธรรมชาติ  คือ  ต้นน้ำลำธาร
         ๓. กำจัดการปลูกฝิ่น
         ๔. รักษาดินและใช้พื้นที่ให้ถูกต้อง  คือให้ป่าอยู่ในส่วนที่ควรเป็นป่า  และทำไร่สวนในส่วนที่ควรเพาะปลูก  อย่าให้ส่วนทั้งสองนี้รุกล้ำซึ่งกันและกัน
         ๕. ผลิตพืชผลเพื่อเพิ่มประโยชน์ทางเศรษฐกิจแก่ประเทศ

โครงการหลวงจึงเกิดขึ้นในเขต ๕ จังหวัดของภาคเหนือ และปัจจุบันได้พัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่ได้รับความนิยม ของนักท่องเที่ยว โดยเฉพาะช่วงฤดูหนาว เช่นโครงการหลวงดอยอินทนนท์ โครงการหลวงดอยอ่างขาง ฯลฯ

ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงปางอุ๋ง 

บ้านปางอุ๋ง เป็นหมู่บ้านเก่าแก่ ก่อตั้งขึ้นมานาน กว่า 50 ปี อยู่ในเขตตบลแม่ศึก อำเภอแม่แจ่ม จังหวัดเชียงใหม่ มีชาวเขาเผ่าม้ง และกะเหรี่ยงอาศัยอยู่ เดิมเป็นพื้นที่ปลูกฝิ่น และทำไรเลื่อนลอย โดยสำนักงานเกษตรจังหวัดเชียงใหม่เป็นผู้ดูและรับผิดชอบ และประสานงานในการส่งเสริมการปลูกพืชให้เพียงพอแก่ความต้องการบริการบริโภคในท้องถินหาพันธ์พืชชนิดใหม่ทดแทนฝิ่น ส่งเสริมการทำเกษตรถาวร เน้นการปลูกไม้ผลเมืองหนาว ปลูกเป็นพืชระยะยาว และพัฒนาปัจจัยพื้นฐานให้มีมาตรฐานทางการสังคมที่ดีขึ้น

ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงปางอุ๋ง มีความสูงระดับน้ำทะเลระหว่าง 1.000-1.500 เมตร หรือ 48.068.54 ไร่ อยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติ ภูมิประเทศส่วนใหญ่เป็นภูเขาสลับซับซ้อน
พื้นที่ราบอยู่ตามหุบเข้าต้นน้า ปางเกี๊ยะ
กิจกรรมการท่องเที่ยว ประกอบด้วยการชมแปลงผักปลูกมันฝรั่ง แครอท อโวกาโด ชมไร่ลิ้นจี่นอกฤดูกาล ชมแปลงผักสาธิตกาแฟราบิก้า ของชาวเผ่าม้ง ชมแปลงปลูกสมุนไพรและแปลงไผ่ 

ด้วยพระมหากรุณาธิคุณอันล้นพ้นของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯพ่อหลวงของปวงชน ประชาชนจึงได้อยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข มีพื้นที่ทำมาหากิน เป็นหลักแหล่งมั่นคง ชาวเขาชนเผ่าต่างๆ ไม่ต้องระหกระเหเร่ร่อน ไปอยู่แห่งใดอีก

ชาวเขาชาวดอยมีการศึกษา มีคุณภาพชีวิตที่ดี  มีที่อยู่อาศัยเป็นหลักแหล่ง ต้นไม้ ป่าเขา และต้นน้ำถูกทำลายน้อยลง 
ชาวเมืองก็มีแหล่งท่องเที่ยว ให้เลือกสรร ได้สัมผัสบรรยากาศสวยงาม ได้ความประทับใจยามไปเยี่ยมเยือนกลับมาเป็นรางวัลของชีวิต


ขอขอบคุณข้อมูลจาก
http://www.thai-tour.com/wb/view_topic.php?id_topic=166



วันเสาร์ที่ 10 กันยายน พ.ศ. 2554

จงยิ้ม..ให้กับความเจ็บปวด



นับจากลืมตาตื่นในทุกๆวัน
ชีวิตมีการเดินทางไปพร้อมๆกับเข็มนาฬิกา
ทุกๆลมหายใจเข้าออก กำหนดจิต นับการเดินทางอย่างไม่รู้ตัว
ผ่านไปทุกๆนาที อย่างสงบ เยือกเย็น
บางครั้งร้อนรน รุกเร่งแข่งกับเข็มนาฬิกา..เพื่อไปให้ทันกันและกัน
ในบางคราว แม้เร่งรัด ปัดอุปสรรคเล็กๆน้อยออกไป
แต่ยังมิวาย..หลายๆอย่างสวนทางเข้ามาชน ล้มคว่ำคะมำหงาย
ในบางทีลุกขึ้นเพื่อก้าวต่อ..แต่อาการบาดเจ็บในแต่ละคราว
ทำให้การลุกขึ้นสู้ในแต่ละครั้งทุลักทุเล
และทุกๆครั้ง..ต้องคอยย้ำเตือนและให้กำลังใจตัวเอง..ว่า

จงยิ้ม..ให้กับความเจ็บปวด


(ขอบคุณภาพเด็กน้อยจาก อินเตอร์เนต)

วันจันทร์ที่ 5 กันยายน พ.ศ. 2554

ทฤษฎีแกล้งดิน"เปรี้ยว"ของในหลวง




"ทฤษฎีแกล้งดิน" ฟังแปลกๆ รู้สึกแปลกๆ ทำไมต้องแกล้งดิน เคยมีคนตั้งคำถามกับผู้เขียนว่า ดินเป็นอะไร ทำไมต้องแกล้งดิน ผู้เขียนตอบไม่ได้ และยังไม่มีคำตอบให้เขาจนวันนี้ 

ตอนเด็กๆ เคยนั่งรถผ่านผืนดิน ทุ่งกว้างไกลสุดตา ฤดูฝนน้ำท่วม ฤดูไม่มีฝนก็เป็นทุ่งหญ้า มีต้นไม้ใหญ่อยู่บ้างเป็นประปราย เคยถามพ่อ(ของผู้เขียน)ว่าทำไมที่บริเวณนี้ถึงว่างเปล่า เหมือนเป็นทุ่งนา แต่ไม่เคยเห็นปลูกข้าว พ่อบอกว่า ดินเปรี้ยวปลูกอะไรไม่ได้หรอก (ช่วงระหว่างตำบลบ่อทอง อ.หนองจิก กระทั่งถึงตำบลตุยง อำเภอหนองจิก จังหวัดปัตตานี)

ทำไมดินเปรี้ยว??
ดินเปรี้ยวเพราะเป็นดินที่มีอินทรียวัตถุคือรากพืชเน่าเปื่อยอยู่ข้างบน และในระดับความลึกประมาณ 1-2 เมตร มีลักษณะเป็นดินเลนสีเทาปนน้ำเงินซึ่งมีสารประกอบไพไรต์หรือกำมะถันอยู่มาก ดังนั้น เมื่อดินแห้ง กรดกำมะถันก็จะทำปฏิกิริยากับอากาศทำให้แปรสภาพเป็นดินเปรี้ยวจัด


ซึ่งหลังจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ เสด็จฯ เยี่ยมราษฎรในเขตจังหวัดนราธิวาส เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๒๔ ทรงพบว่า ดินในพื้นที่พรุ หรือโพระ ที่มีการชักน้ำออก เพื่อจะนำที่ดินมาใช้ทำการเกษตรนั้น แปรสภาพเป็นดินเปรี้ยวจัด ทำให้เพาะปลูกไม่ได้ผล จึงมีพระราชดำริให้ส่วนราชการต่าง ๆ พิจารณาหาแนวทางในการปรับปรุงพื้นที่พรุที่มีน้ำแช่ขังตลอดปีให้เกิดประโยชน์ในทางการเกษตรมากที่สุดและให้คำนึงถึงผลกระทบต่อระบบนิเวศน์ด้วย 

ดังนั้นศูนย์ศึกษาการพัฒนาพิกุลทองอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จึงได้ดำเนินการสนองพระราชดำริโครงการ " แกล้งดิน " เพื่อศึกษาการเปลี่ยนแปลงความเป็นกรดของดิน 


เริ่มจากวิธีการ " แกล้งดินให้เปรี้ยว " คือทำให้ดินแห้งและเปียกสลับกันไป เพื่อเร่งปฏิกิริยาทางเคมีของดิน ซึ่งจะไปกระตุ้นให้สารไพไรท์ทำปฏิกิริยากับออกซิเจนในอากาศ ปลดปล่อยกรดกำมะถันออกมา ทำให้ดินเป็นกรดจัดจนถึงขั้น " แกล้งดินให้เปรี้ยวสุดขีด " จนกระทั่งถึงจุดที่พืชไม่สามารถเจริญงอกงามได้ จากนั้นจึงหาวิธีการปรับปรุงดินดังกล่าวให้สามารถปลูกพืชได้ วิธีการแก้ไขปัญหาดินเปรี้ยวจัดตามแนวพระราชดำริ คือควบคุมระดับน้ำใต้ดิน เพื่อป้องกันการเกิดกรดกำมะถัน จึงต้องควบคุมน้ำใต้ดินให้อยู่เหนือชั้นดินเลนที่มีสารไพไรท์อยู่ เพื่อมิให้สารไพไรท์ทำปฏิกิริยากับออกซิเจนหรือถูกออกซิไดซ์

จากการทดลอง ทำให้พบว่า วิธีการปรับปรุงดินตามสภาพของดินและความเหมาะสม
มีอยู่ ๓ วิธีการด้วยกัน คือ
1. ควบคุมระดับน้ำใต้ดิน เพื่อป้องกันการเกิดกรดกำมะถัน จึงต้องควบคุมน้ำใต้ดินให้อยู่เหนือชั้นดินเลนที่มีสารไพไรท์อยู่ เพื่อมิให้สารไพไรท์ทำปฏิกิริยากับออกซิเจนหรือถูกออกซิไดซ์ 

2.การปรับปรุงดิน มี 3 วิธีการ ตามสภาพของดินและความเหมาะสม 
คือใช้น้ำชะล้างความเป็นกรด เมื่อล้างดินเปรี้ยวให้คลายลงแล้วดินจะมีค่า pH เพิ่มขึ้นอีกทั้งสารละลายเหล็กและอลูมินั่มที่เป็นพิษเจือจางลงจนทำให้พืชสามารถเจริญเติบโตได้ดี โดยเฉพาะถ้าหากใช้ปุ๋ยไนโตรเจนและฟอสเฟตก็สามารถให้ผลผลิตได้
การใช้ปูนผสมคลุกเคล้ากับหน้าดิน เช่น ปูนมาร์ล ปูนฝุ่นซึ่งปริมาณของปูนที่ใช้ขึ้นอยู่กับความรุนแรงของความเป็นกรดของดิน
การใช้ปูนควบคู่ไปกับการใช้น้ำชะล้างและควบคุมระดับน้ำใต้ดิน เป็นวิธีการที่สมบูรณ์ที่สุดและใช้ได้ผลมากในพื้นที่ซึ่งดินเป็นกรดจัดรุนแรง และถูกปล่อยทิ้งเป็นเวลานาน


3. การปรับสภาพพื้นที่ มีอยู่ 2 วิธี คือ
การปรับระดับผิวหน้าดิน ด้วยวิธีการ คือ
ปรับระดับผิวหน้าดินให้มีความลาดเอียง เพื่อให้น้ำไหลไปสู่คลองระบายน้ำ
ตกแต่งแปลงนาและคันนาใหม่ เพื่อให้เก็บกักน้ำและระบายน้ำออกไปได้
การยกร่องปลูกพืช สำหรับพืชไร่ พืชผัก ไม้ผล หรือไม้ยืนต้นที่ให้ผลตอบแทนสูง ถ้าให้ได้ผลต้องมีแหล่งน้ำชลประทานเพื่อขังและถ่ายเทน้ำได้เมื่อน้ำในร่องเป็นกรดจัด การยกร่องปลูกพืชยืนต้นหรือไม้ผล ต้องคำนึงถึงการเกิดน้ำท่วมในพื้นที่นั้น หากมีโอกาสเสี่ยงสูงก็ไม่ควรทำ หรืออาจยกร่องแบบเตี้ย ๆ พืชที่ปลูกเปลี่ยนเป็นพืชล้มลุกหรือพืชผัก และควรปลูกเป็นพืชหมุนเวียนกับข้าวได้

ด้วยพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ภูมิพล อดุลยเดช จึงทำให้ประชาชนมีพื้นที่เพาะปลูกทำการเกษตรบนผืนดินผืนนาว่างเปล่าเพิ่มขึ้นอีกมากมาย
พระบาทสมเด็จไม่เคยนิ่งเฉยดูดายต่อปัญหาของประชาชน พระองค์ท่านมีสายพระเนตรมองเห็นปัญหาในขณะที่ไม่มีใครมองเห็น พระองค์ทรงงานแก้ไข และติดตามการดำเนินงานของหน่วยงานต่างๆจนกระทั่งประชาชนได้ประโยชน์อย่างแท้จริง

สืบเนื่องด้วยในศุภวาระที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จเถลิงถวัลราชสมบัติครบ 60 ปี คณะรัฐมนตรีจึงได้มีมติเมื่อวันที่ 20 มิถุนายน 2549 เห็นชอบตามที่สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติเสนอเทิดพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเป็น “พระบิดาแห่งนวัตกรรมไทย” จาก “โครงการพระราชดำริแกล้งดิน” ในเขตจังหวัดนราธิวาส และกำหนดให้วันที่ 5 ตุลาคมของทุกปีเป็น “วันนวัตกรรมแห่งชาติ” 
 

คงไม่มากเกินไปใช่ไหม ถ้าประชาชนผู้รักในหลวงทั้งหลายทั้งมวลจะทำอะไรบ้างเพื่อเป็นตอบแทนพระองค์มากกว่าการท่องคาถาเรารักในหลวง


ขอขอบคุณข้อมูลและภาพจาก

วันอาทิตย์ที่ 4 กันยายน พ.ศ. 2554

พระเมตตาของในหลวงกับชาวเชียงตุง

วันนี้นั่งเฝ้าหน้าจอทั้งวัน คลิกหาทฤษฎีแกล้งดินของพระเจ้าอยู่หัว อ่านแล้วอ่านอีกจนย่ำเย็นยังเขียนออกมาไม่ได้


เปิดไฟล์หาภาพถ่ายไปเรื่อยๆ มาสะดุดภาพๆหนึ่ง..ซึ่งเคยถ่ายมาจากเชียงตุง จังหวัดหนึ่งของรัฐฉาน ประเทศพม่า เป็นภาพอดีต เป็นภาพความทรงจำดีๆ เป็นความปลาบปลื้ม เป็นความตื้นตันใจน้ำตาซึม

เกือบสี่ปีมาแล้ว มีโอกาสได้ไปเที่ยวเชียงตุง เป็นช่วงที่พม่ากำลังรบกันเอง ช่วงที่พม่าไล่ยิงพระสงฆ์ที่เขาอ้างว่าแข็งข้อกับรัฐบาล เป็นช่วงที่เราจองทัวร์ไว้แล้วและตั้งใจจะไปให้ได้ เราลุ้นกันเหลือเกินขอให้สถานการณ์สงบโดยเร็ว และติดต่อกับทัวร์ตลอด..ขอให้เขาเช็คกับทางการท่องเที่ยวของพม่า ทริปนั้นลูกทริปยกเลิกกันหมด เหลือแต่ฉันและเพื่อนอีก ๒ คนเรียกว่าดื้อดึงดันจะไปให้ได้ ทีแรกถ้าเหลือแค่นี้ทริปนี้จะถูกยกเลิก โชคดียังมีพี่ๆคู่สามีภรรยาอีก ๒ คน ไปด้วย แต่ต้องเปลี่ยนการเดินทางจากรถตู้เป็นรถทัวร์และไปต่อรถแท๊กซี่ที่ทางบริษัททัวร์เตรียมไว้แล้วที่แม่สาย ไม่มีปัญหาเราสบายใจมากแม้จะเป็นรถทัวร์หรือรถแท๊กซี่ก็ตามเพราะเป็นส่วนตัวเหมือนไปกันเอง คนขับแท๊กซี่เป็นชาวพม่า พูดภาษาอังกฤษได้เล็กน้อย ดังนั้นคุยกันรู้เรื่องบ้างไม่รู้เรื่องบ้างต่างคนต่างก็สเนคๆฟิชๆ..

เชียงตุง เคยเป็นเมืองขึ้นของประเทศไทยในสมัย จอมพล ป. พิบูลสงคราม โดยได้ส่งพลตรี ผิน ชุณหะวัณ ไปเป็นข้าหลวงใหญ่ครองเมืองเชียงตุง จนกระทั่งญี่ปุ่นพ่ายแพ้สงครามในสงครามโลกครั้งที่๒จึงต้องคืนเมืองให้กับอังกฤษ

เชียงตุง ประชาชนส่วนใหญ่เป็นชาวไทใหญ่ ไทเขิน ชาวเขาเผ่าต่างๆมากมาย และพม่า เราไม่มีปัญหาเรื่องภาษากับชาวไทใหญ่เพราะใช้ภาษาเหมือนกับภาษาคำเมืองของภาคเหนือประเทศเรา 

เชียงตุงเป็นความประทับใจที่อยากเล่าให้ฟังมากมาย แต่วันนี้ขอเขียนเล่าสั้นๆ ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ภูมิพล อดุลยเดช 

Kyainge Tong New Hotel
อดีตคือราชวังหลวงหรือหอคำหลวงของเมืองเชียงตุง ปัจจุบันพม่าทุบทิ้งและสร้างเป็นโรงแรม
(ขอบคุณภาพจากhttp://www.oknation.net/blog/print.php?id=727820)

เจ้าของรีสอร์ทเป็นชาวไทใหญ่เป็นไกด์นำเที่ยวเชียงตุงในคราวนี้ ได้พาเราไปเยี่ยมชมวังเก่าของเจ้าฟ้ารัตนะก้อนแก้วอินแถลงผู้ครองเมืองเชียงตุง จะว่าพาเยี่ยมชมก็ไม่เชิงเพราะวังเก่าได้เปลี่ยนเป็นโรงแรมKyainge Tong New Hotel และรองรับแขกคนสำคัญๆเท่านั้น และในส่วนที่ใกล้ๆกัน..กำแพงติดกันก็เป็นคุ้มของเจ้าบุญวาทย์วงศา ซึ่งเป็นโอรสองค์หนึ่งในองค์ของเจ้าฟ้ารัตนะก้อนแก้วอินแถลงกับเจ้านางบุญยวง พระชายา๑ใน ๖ พระองค์


เจ้าบุญวาทย์วงศาเคยต้อนรับกองทัพไทยและให้เป็นกองบัญชาการที่นำโดยหลวงเสรีเริงฤทธิ์ในคราวที่กองทัพพายัพไทยบุกเข้าเชียงตุงช่วงสงครามโลกที่๒


ปัจจุบันคุ้มเจ้าบุญวาทย์เหลือเพียงแต่ผู้ดูแลที่อายุมากแล้ว ความจำบางตอนยังใช้ได้แต่บางตอนคุณตาก็ลืมไปแล้ว หูก็ไม่ดี ถามอะไรไปก็ไม่ได้ยิน คุณตารื้ออัลบั้มเก่าๆที่ยังพอเหลือไว้ในคุ้มออกมาให้ดูและเล่าว่าใครเป็นใครบ้าง บุตร ธิดาของเจ้าบุญวาทย์ บ้างก็อยู่ลาว บ้างก็อยู่ประเทศฝรั่งเศส ไม่มีใครอยู่ทีนี่อีก เราเปิดอัลบั้มภาพไปเรื่อยๆ คุยกันไปรู้เรื่องบ้างไม่รู้เรื่องบ้างเพราะคุณตาลืม คุณตาไม่ได้ยิน และเรื่องราวลึกๆถามมากไม่ได้เพราะขณะนั้นพม่าอยู่ในสถานการณไม่ปกติ ประชาชนไม่มีอิสระ คุณตาจะบอกว่าเรื่องนี้พูดไม่ได้ดอก ที่นี่ไม่เหมือนเมืองไทย..อ๋อ..ลืมบอก คุณตาพูดภาษาไทยได้ เราจึงคุยกันรู้เรื่อง 

คุณตาพูดถึงเมืองไทยเหมือนคนไทยคนหนึ่ง เราเปิดอัลบั้มไปเรื่อยจนกระทั่งสะดุดตากับภาพสมเด็จพระเทพฯ ภาพในหลวง และราชวงศ์องค์อื่นๆ เราจึงถามว่าคุณตารู้จักหรือ?เป็นคำถามโง่ๆนะ แค่อยากรู้ว่าคุณตารู้สึกอย่างไร คุณตาพูดถึงในหลวง สมเด็จพระเทพฯและองค์อื่นๆด้วยความรักและบอกว่าคนไทใหญ่ที่นี่รักประเทศไทย รักในหลวง คุณตาเล่าว่าในหลวง มีพระมหากรุณธิคุณต่อชาวไทใหญ่หลายประการ เจ้าแห่งคุ้มนี้ต่างก็เป็นมิตรกับพระราชวงศ์นี้ เคยไปมาหาสู่กันพูดไปคุณตาน้ำคลอเบ้า เราก็ฟังไป น้ำตารื้น ก้อนอะไรวิ่งมาจุกอก พูดไม่ออกต้องถอยออกมา


สังเกตริชแบนเรารักในหลวงข้อมือคุณตา

คุณตาใส่ริชแบนสีเหลืองโชว์เราด้วย บอกว่าใส่อยู่ตลอดเวลา แต่คุณตาได้มาอย่างไรคราวนี้เราเองจำไม่ได้คลับคล้ายว่ามาร่วมงานเฉลิมฉลองอะไรสักอย่างของในหลวงและเคยได้เข้าเฝ้าสมเด็จพระเทพฯซึ่งมีภาพถ่ายเป็นประจักษ์(ตอนนั้นกล้องถ่ายแบตเตอรี่กำลังจะหมดแสงไม่พอ ไม่มีภาพมาฝาก)

เป็นความทรงจำ เป็นความประทับใจและตื้นตันในหัวใจ พ่อหลวงของเราเป็นที่รักของคนทั้งโลก

..นอกจากความอัจฉริยภาพ ทรงมีพระวิริยะอุตสาหะทรงงานอย่างหนักเพื่อประชาชนชาวไทยของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯแล้ว น้ำพระทัยและพระเมตตาของพระองค์ได้แผ่รัศมีออกไปกว้างไกล ทั่วทั้งเอเชียกระทั่งเป็นที่ปลาบปลื้มและเป็นพระมหากรุณาธิคุณที่ประชาชนของประเทศเพื่อนบ้านหลายๆประเทศอดใจที่จะจงรักภักดีไม่ได้





ขอบคุณข้อมูล

ประวัติศาสตร์เมืองเชียงตุง
http://th.wikipedia.org/wiki/%E0%B8%9B%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B8%A7%E0%B8%B1%E0%B8%95%E0%B8%B4%E0%B8%A8%E0%B8%B2%E0%B8%AA%E0%B8%95%E0%B8%A3%E0%B9%8C%E0%B9%80%E0%B8%8A%E0%B8%B5%E0%B8%A2%E0%B8%87%E0%B8%95%E0%B8%B8%E0%B8%87
เจ้าฟ้ารัตนะอินแถลง
http://th.wikipedia.org/wiki/%E0%B9%80%E0%B8%88%E0%B9%89%E0%B8%B2%E0%B8%9F%E0%B9%89%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B8%B1%E0%B8%95%E0%B8%99%E0%B8%B0%E0%B8%81%E0%B9%89%E0%B8%AD%E0%B8%99%E0%B9%81%E0%B8%81%E0%B9%89%E0%B8%A7%E0%B8%AD%E0%B8%B4%E0%B8%99%E0%B9%81%E0%B8%96%E0%B8%A5%E0%B8%87