ทุกครั้งที่ได้ยินสำเนียงเสียงเห่เรือดังแว่วมา..ผู้เขียนต้องขยับตัวหาต้นเสียง ขอฟังดังๆ ชัดๆ
เสน่ห์ของการ..เห่เรือ อยู่ตรงไหนใครรู้บ้าง?
หรือเพราะการผสมเสียงขับร้องขับขานที่เข้มแข็ง ประสานกับเสียงเครื่องดนตรีไทยอันไพเราะซึ่งมีเสน่ห์
เป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวอยู่แล้ว
การเห่เรือ..คือ ทำนองของการร้องหรือ ออกเสียงประกอบการให้จังหวะแก่ฝีพายในการพายเรือ ซึ่งเป็นองค์ประกอบที่สำคัญยิ่ง ในการพายเรือพระราชพิธีกระบวนพยุหยาตราทางชลมารค ช่วยผ่อนแรงในการพายเรือระยะทางไกลๆ ได้อีกด้วย
การเห่เรือ..ทำให้เรานึกถึงกระบวนพยุหยาตราทางชลมาคอันยิ่งใหญ่และอลังการของพระมหากษัตริย์ ซึ่งเป็นประเพณีที่สืบทอดกันมาตั้งแต่สมัยโบราณกาล
กระบวนพยุหยาตราชลมารค เป็นกระบวนเสด็จพระราชดำเนินทางน้ำที่เป็นราชประเพณีไทยที่มีมาแต่โบราณ ตั้งแต่สมัยอยุธยา
กระบวนพยุหยาตราชลมารค มีหลักฐานมาตั้งแต่สมัยกรุงสุโขทัย ปรากฏไว้ว่า พระร่วงเจ้า (พระมหาธรรมราชา 1) ทรงใช้เรือออกลอยกระทง หรือพิธีจองเปรียง ณ กลางสระน้ำ พร้อมทั้งเผาเทียนเล่นไฟในยามคืนเพ็ญเดือนสิบสอง
ในยุคกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี ตามพงศาวดารได้บันทึกไว้ว่า สมเด็จพระนเรศวรเมื่อคราวเสด็จไปตีเมืองเมาะตะมะ เสด็จพระราชดำเนินจากกรุงศรีอยุธยาโดยชลมารค พอได้เวลาฤกษ์ พระโหราราชครูอธิบดีศรีทิชาจารย์ ก็ลั่นกลองฆ้องชัยให้พายเรือพระที่นั่งศรีสุพรรณหงส์ อันเป็นเรือทรงพระพุทธปฏิมากรทองนพคุณ บรรจุพระบรมสารีริกธาตุถวายพระนามสมญา “พระพิชัย” นำกระบวนออกไปก่อนเพื่อความเป็นสิริมงคล
ระหว่างการเคลื่อนกระบวนก็มีการเห่เรือพร้อมเครื่องประโคม จนเกิดวรรณกรรมร้อยกรองที่ไพเราะยิ่ง คือ กาพย์เห่เรือ ของ เจ้าฟ้าธรรมธิเบศร์ หรือเจ้าฟ้ากุ้ง ในสมัยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ ตอนปลายสมัยกรุงศรีอยุธยา ซึ่งบรรยายถึงความงดงาม และลักษณะของเรือในกระบวนครั้งนั้น และบทเห่เรือนี้ยังเป็นแม่แบบของกาพย์เห่เรือที่ใช้กันในปัจจุบัน
"กระบวนพยุหยาตรา" ที่มีในรัชกาลปัจจุบันนั้น ส่วนมากจะเป็นการเสด็จไปทอดผ้าพระกฐิน ณ วัดอรุณราชวราราม และ พิธีสำคัญๆ อย่างเช่น การฉลองสิริราชสมบัติครบ 50 ปี กาญจนาภิเษก และ พระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ
กระบวนพยุหยาตราฯในสมัยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช มีกระบวนพยุหยาตราฯเกิดขึ้นมาแล้ว 14 ครั้ง โดยครั้งแรก เมื่อวันที่ 14 พ.ค. 2500
ซึ่งทางราชการได้จัดขึ้นเนื่องในงานฉลอง 25 พุทธศตวรรษ
หากว่าพระองค์ไม่ได้เสด็จประทับด้วยในเรือพระที่นั่ง ทางสำนักพระราชวังให้เรียกว่า การแสดงขบวนเรือพระราชพิธี ไม่ใช่กระบวนพยุหยาตราชลมารค ดังเช่นคราวที่แสดงกระบวนเรือต้อนรับผู้นำเอเปค ซึ่งพระองค์ทรงเสด็จทอดพระเนตรร่วมกับพระราชอาคันตุกะจากต่างประเทศที่อาคารราชนาวิกสภา
และงานพระราชพิธีทรงบำเพ็ญพระราชกุศลถวายผ้าพระกฐิน ไปยังวัดอรุณราชวรารามฯ
ในวันที่ 5 พ.ย. 2550 จึงถือเป็นกระบวนพยุหยาตราครั้งที่ 15 ในรัชกาลปัจจุบัน
ซึ่งยิ่งใหญ่กว่าการแสดงกระบวนเรือแสดงรับผู้นำเอเปค
“งานพระราชพิธีทรงบำเพ็ญพระราชกุศลถวายผ้าพระกฐิน” นับเป็นกระบวนพยุหยาตราทางชลมารค (ใหญ่) อีกครั้งหนึ่ง ที่มีการนำเรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์เป็นเรือพระที่นั่งทรง เรือพระที่นั่งนารายณ์ทรงสุบรรณรัชกาลที่ 9 เป็นเรือพระที่นั่งรอง และเรือพระที่นั่งอนันตนาคราช เป็นเรือทรงผ้าไตร มีการจัดกระบวนเรือพระราชพิธีกระบวนใหญ่ ใช้เรือพระราชพิธีและเรือพระที่นั่ง รวม 52 ลำ จำนวนฝีพาย 2,082 นาย พร้อมทั้งมีการจัดทำบทกาพย์เห่เรือใหม่ เพื่อเฉลิมพระเกียรติในวโรกาสมหามงคลนี้โดยเฉพาะ
ขบวนพยุหยาตราทางชลมารคและการเห่เรือนั้นเป็นเอกลักษณ์ของชาติ
เอกราชทางดินแดน และมรดกทางวัฒนธรรมแห่งปัญญาของสยามประเทศ ใช้เวลาบ่มเพาะมานานหลายร้อยปีจากการดำเนินพระราโชบายอันชาญฉลาดของพระมหากษัติย์ไทย ตลอดจนจากภูมิปัญญาของบรรพชนอันควรค่าแก่การเทิดทูนบูชาและ จารึกไว้ในจิตสำนึกของอนุชน รุ่นหลัง
ด้วยความงดงามของประเพณี วัฒนธรรมไทยที่มีมาแต่โบราณกาล จึงสมควรแล้วที่คนไทยและอนุชนรุ่นต่อไปๆ จะช่วยกันรักษา ไว้ซึ่งเอกลักษณ์ที่มิอาจหาชาติใดมาเปรียบได้
และร่วมใจกันปกป้องสถาบันพระมหากษัตริย์ไทย
และความเป็นไทยให้ดำรงอยู่กับชาติ สืบต่อไป
ขอขอบคุณข้อมูลอ้างอิงจากวิกิพิเดีย
ข้อมูลและภาพอ้างอิงจาก
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น