วันศุกร์ที่ 16 กันยายน พ.ศ. 2554

ฟาร์มตัวอย่าง"บ้านน้ำดำ"ปัตตานี


ปัตตานี จังหวัดหนึ่งในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่มีเหตุการณ์ร้อนระอุเกิดขึ้นเสมอๆจากสถานการณ์ที่ไม่เคยสงบสุขของคนในพื้นที่ คนบาดเจ็บ พิการและเสียชีวิตมีมากจนกระทั่งความกลัวของคนในพื้นที่กลายเป็นความชาชิน นิ่งเฉยกับความกลัว  และเจ็บปวดกับความเป็นความตาย 
แต่ที่ร้ายไปกว่านั้นคือความระแวงของคนในพื้นที่กันเอง นั่นคือความแตกแยกของคนในพื้นที่ ที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน 

ตั้งแต่ มกราคม 2547 เป็นต้นมาคนในพื้นที่ทั้งคนเมือง คนชนบท ต้องอดทน และหวาดผวากับเสียง ปืน เสียงระเบิดและความเจ็บความตาย 



จากสถานการณ์การก่อการร้ายจากกลุ่มผู้ไม่หวังดีต่อบ้านเมือง มีข่าวร่ำลือเกิดขึ้นเสมอว่า
ผู้คนอพยพหนีออกจากพื้นที่ ไม่แปลกถ้าเขากลัวเพราะเราไม่อาจรู้ตัวว่าความตายจะเกิดขึ้นกับเรา
 กับญาติพี่น้องเมื่อใด 
แต่ผู้คนที่ย้ายออกโดยส่วนใหญ่แล้วไม่ใช่ชาวปัตตานีโดยกำเนิด ไม่มีรากฐานอยู่ที่นั่น 
ซึ่งอาจเพียงแต่มาอยู่อาศัยเพื่อประกอบอาชีพ  
ถ้าถามผู้เขียนในฐานะที่เป็นคนที่นี่โดยกำเนิดและอีกหลายๆครอบครัว ยังคงดำเนินชีวิตอยู่ที่นี่โดยไม่มีใครคิดหนีไปไหน ทำให้ผู้เขียนนึกถึง..คำว่า สุดแผ่นดิน จะให้เราย้ายไปไหน ทั้งที่ปัจจุบัน เรากำลังถูกรุกรานทั้งเหนือ อีสานและใต้ 


เพื่อนๆเคยล้อเล่นและประชดประชันเจ้าหน้าที่บ้านเมือง ว่านานๆกลับบ้านที..
อาจต้องใช้พาสปอร์ตกลับบ้านตัวเอง นั่นหมายความว่า ไม่ว่าเกิดอะไรขึ้นกับบ้านเกิดของเรา 
เราก็ไม่ย้ายหนีไปไหนเด็ดขาด

ท่ามกลางเสียงปืน ระเบิดและความตาย หยาดน้ำพระทัยอันเย็นชื่นฉ่ำใจได้รินรดลงสู่ใจกลาง
ของชุมชน ชาวบ้านที่เดือดร้อน 

ในวันที่ 24 กันยายน 2547 
เมื่อสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ พร้อมด้วย สมเด็จเจ้าฟ้าหญิงจุฬาภรณ์วลัยลักษณ์ฯ 
ได้เสด็จที่วัดสุนันทาราม บ้านน้ำดำ หมู่ที่ 3 ตำบลปุโละปุโย อำเภอหนองจิก จังหวัดปัตตานี 
เพื่อนมัสการพระสงฆ์ ถวายจตุปัจจัย 
ทรงเยี่ยมราษฎรที่มาเฝ้ารับเสด็จและทรงงานศิลปาชีพ ได้ทรงรับทราบความเดือดร้อนของราษฎรจาก นายสหัส บุญญาวิวัฒน์ ผู้ช่วยเลขาธิการพระราชวังฝ่ายกิจกรรมพิเศษ และนายเทอดศักดิ์ บุญยขจร วิศวกรใหญ่ด้านวางแผนและโครงการ กรมชลประทาน 
ว่าพื้นที่ทำการเกษตรของราษฎรยังประสบปัญหาคือ น้ำท่วมขังพื้นที่ทำนา การใช้น้ำจากคูส่งน้ำไม่สะดวก ในการนี้ สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ได้มีกระแสรับสั่งให้ กรมชลประทานแก้ปัญหาระบบน้ำ และให้กรมพัฒนาที่ดินจัดตั้งฟาร์มตัวอย่างฯ 
วันที่ 25 มกราคม 2549 พลเรือโท ศุภนิตย์ จูฑะพุทธิ พร้อมด้วย พันเอก อรรถพร โบสุวรรณ พล.ต.ต.เดชชัย พวงพัฒน์  และคณะฯ ได้เดินทางมาสำรวจสภาพพื้นที่เบื้องต้น  บริเวณหมู่ที่ 3  ตำบลปุโละปุโย  อำเภอหนองจิก จังหวัดปัตตานี  ตามที่นางเพ็ญจันทร์  จันทร์สุกระ  ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน  ม.3  ได้ร้องเรียนว่า  ปัจจุบันสถานการณ์ในพื้นที่ไม่เป็นที่ไว้วางใจราษฎรในพื้นที่ถูกประทุษร้ายแล้วหลายคน  
ราษฎรในหมู่บ้านไม่กล้าออกไปประกอบอาชีพนอกบ้านทำให้ราษฎรเดือดร้อนและขาดรายได้เลี้ยงชีพ  จึงขอให้จัดตั้งฟาร์มฯในพื้นที่  
โดยมีราษฎร  ประมาณ  30  ราย ได้ร่วมกันมอบที่ดินประมาณ  100  ไร่  ให้กับโครงการฯ  และจะขอใช้พื้นที่ราชพัสดุ  โดยการครอบครองของกรมชลประทานอีกประมาณ  100  ไร่  
ซึ่งมี พลเอก ณพล  บุญทับ รองสมุหราชองครักษ์ในสมเด็จพระนางเจ้าฯ  พระบรมราชินีนาถ
ได้เดินทางมาตรวจความก้าวหน้าของฟาร์มฯและสั่งการ
ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องรีบดำเนินการโดยเร็ว


จากการเสด็จในคราวนั้นจึงได้เกิด..
โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ  “สมเด็จพระนางเจ้าฯ  พระบรมราชินีนาถ”
ชื่อโครงการ โครงการฟาร์มตัวอย่างในสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ (บ้านน้ำดำ)

โดยวัตถุประสงค์ของโครงการ
1. เพื่อช่วยเหลือราษฎรที่ได้ความเดือดร้อนจากเหตุการณ์ความไม่สงบให้มีงานทำมีรายได้ 
2. เพื่อสร้างทางเลือกในการประกอบอาชีพให้กับราษฎร 
3. เพื่อเป็นแหล่งศึกษา  หาความรู้ทางด้านการเกษตร 
4. เพื่อเป็นแหล่งผลิตอาหารปลอดภัยให้กับชุมชน

นับตั้งแต่มีโครงการนี้เกิดขึ้น ทำให้ชาวบ้านไม่ต้องเดินทางออกไปทำงานนอกพื้นที่ 
ไม่ต้องเสี่ยงระหว่างการเดินทาง คนรอที่บ้านก็ไม่ต้องคอยเป็นห่วง ชะเง้อหาเพราะกลับบ้านผิดเวลา 

นอกจากในฟาร์มมีพืช ผักปลอดสารพิษ และสัตว์เลี้ยง ทั้งแกะและแพะ รวมทั้งสัตว์ปีก บ่อปลา 
หลากหลายชนิด ทั้งขายปลีก ขายส่งราคาถูก เป็นทางเลือกหนึ่งของผู้บริโภค
ทั้งในชุมชนและตลาดสดในเมือง แล้ว

ต่อมาปี ๒๕๔๙ หลังจากสมเด็จพระนางเจ้าฯบรมราชินีนาถ ได้มีพระราชเสาวนีย์ที่แสดงให้เห็นถึงพระปณิธานและน้ำพระทัยที่ทรงห่วงใย “ครูใต้” ซึ่งเสี่ยงอันตรายสอนหนังสืออยู่ในพื้นที่ พระองค์จึงพระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์เพื่อจัดสร้าง 
“โครงการหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียงสำหรับข้าราชการครู” หรือ “ศูนย์ครูใต้” 
ขึ้นเป็นแห่งแรกในโครงการฟาร์มตัวอย่างในพระราชดำริ 

เคยฟังเพื่อนๆที่เป็นครูมักบ่นเสมอว่า ทำใจแล้ว เพราะทุกครั้งที่ออกจากบ้านคิดเสมอว่ายังไม่รู้จะได้กลับเข้าบ้านแบบไหน เมื่อตกเย็นกลับถึงบ้านก็ได้แต่ถอนใจโล่งอก..เฮ้อ..รอดอีกวันแล้วเรา 
คนฟังก็รู้สึกหดหู่ในหัวใจ

ศูนย์ครูใต้ มีบ้านพักครู ปลูกตั้งอยู่ริมคลองชลประทาน มีห้องสมุด บริการอินเตอร์เนต มีมินิมาร์ท ร้านเสริมสวยสิ่งอำนวยความสะดวกครบครัน
โดยเฉพาะโรงเรียน มีตั้งแต่ระดับอนุบาล-ประถม๖ 
และเด็กเล็ก เด็กโต พ่อแม่ ไม่ต้องเป็นกังวลกับการหาที่เรียน ไม่ต้องกังวลกับการรับส่งลูกหลานไปกลับในเมืองและบ้าน

ด้วยน้ำพระทัยและพระมหากรุณาธิคุณแห่งสมเด็จพระนางเจ้าฯพระบรมราชินีนาถ 
คู่พระบารมีในหลวงภูมิพล ที่ทรงห่วงใยความเดือดร้อนของประชาชน ทรงแก้ปัญหา ทรงจัดหา ปรับปรุงแหล่งที่ทำกิน และทรงจัดหาที่อยู่อาศัยการศึกษาเพื่อความปลอดภัยของพสกนิกรในพระองค์ 

ประชาชน ชาวบ้านในชุมชนละแวกใกล้เคียงจึงได้อยู่อาศัยกันอย่างอบอุ่นใจ
รู้สึกมั่นใจและมั่นคงมากขึ้น


ขอขอบคุณข้อมูลอ้างอิงจาก
โต๊ะข่าวภาคใต้ สถาบันอิศรา
และ


ไม่มีความคิดเห็น: