วันเสาร์ที่ 8 ตุลาคม พ.ศ. 2554

วิกฤติน้ำท่วมไทยในวันนี้


ปัญหาน้ำท่วมในประเทศไทย เป็นภัยธรรมชาติที่เกิดขึ้นทุกๆปี จะมากหรือน้อยก็สุดแต่ธรรมชาติจะเมตตา

สาเหตุเพราะประเทศไทยตั้งอยู่ในเขตมรสุม มีฝนตกชุกและปริมาณน้ำฝนสูง จึงเกิดปัญหาน้ำท่วมอยู่ในหลายพื้นที่เกือบทุกภูมิภาค ประกอบกับการตัดไม้ทำลายป่ากระทั่งเหลือแต่ภูเขาหัวโล้น

ปีนี้น้ำท่วมเป็นวิกฤติ เป็นทุกข์และความเดือดร้อนของประชาชนกันถ้วนทั่ว เป็นความเสียหายอย่างมหาศาลทั้งภาคการเกษตรและภาคธุรกิจ

บ้านเรือน ที่อยู่อาศัย จมอยู่ใต้น้ำ ประชาชนไร้ที่อยู่อาศัย แต่รัฐบาลยังตุปัดตุเป๋ 

น้ำกำลังทะลักเข้ากรุงจากทั้งจากทางเหนือ ทางตะวันออก อยุธยาเมืองเก่ากลายเป็นทะเลสาบ

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯได้พระราชทานพระราชดำริในการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมไว้หลายวิธีเช่น

1. การก่อสร้างคันกั้นน้ำ เพื่อป้องกันน้ำท่วมซึ่งเป็นวิธีการดั้งเดิมแต่ครั้งโบราณโดยการก่อสร้างคัน ดินกั้นน้ำขนาดที่เหมาะสมขนานไปตามลำน้ำห่างจากขอบตลิ่งพอสมควร เพื่อป้องกันมิให้น้ำล้นตลิ่งไปท่วมในพื้นที่ต่างๆ ด้านใน เช่น คันกั้นน้ำโครงการมูโนะ และโครงการปิเหล็งอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดนราธิวาส เป็นต้น

2. การก่อสร้างทางผันน้ำ เพื่อผันน้ำทั้งหมดหรือบางส่วนที่ล้นตลิ่งท่วมท้นให้ออกไป โดยการก่อสร้างทางผันน้ำหรือขุดคลองสายใหม่เชื่อมต่อกับลำน้ำที่มีปัญหาน้ำ ท่วมโดยให้น้ำไหลไปตามทางผันน้ำที่ขุดขึ้นใหม่ไปลงลำน้ำสายอื่น หรือระบายออกสู่ทะเลตามความเหมาะสม ซึ่งการดำเนินการสนองพระราชดำริวิธีนี้ ดำเนินการโดยกรมชลประทาน ในการแก้ไขปัญหาจากแม่น้ำโก-ลก เข้ามาท่วมไร่นาของราษฎรเสียหายหลายหมื่นไร่ทุกปี การขุดคลองมูโนะได้ช่วยบรรเทาลงได้เป็นอย่างดี

3. การปรับปรุงและตกแต่งสภาพลำน้ำ เพื่อให้น้ำที่ท่วมทะลักสามารถไหลไปตามลำน้ำได้สะดวกหรือช่วยให้กระแสน้ำไหล เร็วยิ่งขึ้น อันเป็นการบรรเทาความเสียหายจากน้ำท่วมขังได้

และโครงการแก้มลิง ฝั่งตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยา ฝั่งตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยา 
ซึ่งแนวพระราชดำริ อันเป็นทฤษฎีเกี่ยวกับการบริหารจัดการด้านน้ำท่วมนี้มีพระราชดำริเพิ่มเติม ว่า ...ได้ ดำเนินการในแนวทางที่ถูกต้องแล้ว ขอให้รีบเร่งหาวิธีปรับปรุงและเพิ่มประสิทธิภาพต่อไปเพราะโครงการแก้มลิงใน อนาคตจะสามารถช่วยพื้นที่ได้หลายพื้นที่....

กระทั่งคราวนี้ก็..เมื่อน้ำมาจากทุกทิศทางไหลลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยา และล้นเข้าสู่บ้านเรือน ท่วมถนนในกรุงเทพฯหลายสาย นำความเดือดร้อนสู่ประชาชนของพระองค์

และด้วยความห่วงใยของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่นอกจากการพระราชทานสิ่งของอุปโภคบริโภคแก่ประชาชนที่เดือดร้อนแล้ว..
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชกระแสรับสั่งให้กองทัพเรือ นำเรือของหน่วยทหารเรือไปแม่น้ำ เพื่อหมุนใบพัดไล่ให้น้ำลงทะเลเร็วขึ้น....


เพื่อช่วยบรรเทา แบ่งเบา และทำให้ประชาชนรู้สึกความอบอุ่นและปลอดภัยในชีวิต

ความเดือดร้อนจากภัยน้ำท่วมเกิดขึ้นทุกปี จะไม่หนักหนาและวิกฤติมากมายถ้าประชาชนและรัฐบาลได้ตระหนักถึงปัญหา ได้ร่วมกันคนละใจคนละแรงรักษาผืนป่าไว้ดังที่สมเด็จพระบรมราชชนนีฯทรงมีพระราชดำรัสไว้อย่างลึกซึ้งเนื่องในวโรกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา 12 สิงหาคม 2535 ดังนี้

"…ข้าพเจ้าขอชี้แจงว่าเพราะเหตุใดจึงควรรักษาป่า  ไม่ใช่เพียงเพื่อเป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์ป่าเท่านั้น แต่เหตุผลที่สำคัญที่สุดคือแหล่งน้ำ และพวกเราควรรู้คุณค่าของแผ่นดิน เราเรียก แผ่นดินนี้ว่าแผ่นดินแม่ ก็เพราะแผ่นดินนี้เป็นที่เกิดและเลี้ยงดูคนไทยมากว่า 700 ปี ควรที่เราทั้งหลายจะบำรุงรักษาแผ่นดินให้คงความสมบูรณ์ไว้... ถ้ามัวแต่ตักตวงผลประโยชน์จากผืนดิน เช่น เอาแต่ตัดไม้ขายจนป่าสูญสิ้นไป ใช้ยาฆ่าแมลงและฆ่าวัชพืชจนดินเสียหมด หรือทิ้งของเสียปฏิกูลลงไปในแม่น้ำลำคลองโดยไม่ห่วงใยแผ่นดินเลย หากเราทำทารุณกรรมต่อแผ่นดินโดยไร้ความสำนึกถึงบุญคุณเช่นนี้ สักวันหนึ่งแผ่นดินแม่คงตายจากเราไป โดยไม่มีวันหวนกลับคืนมา คงเหลือไว้แต่แผ่นดินที่แห้งแล้งสิ้นสภาพทุกประการ จากการเป็นดินที่ทำการเพาะปลูกได้ คงจะมีแต่ฝุ่นฟุ้ง ตลบเสมือนแผ่นดินที่ไร้วิญญาณ... ท่านทราบหรือไม่ว่าผืนดินในป่านั้นมีทรากของใบไม้และกิ่งไม้ ทับถมเป็นชั้นหน้าดินที่หนาถึงครึ่งเมตร มีความสามารถอุ้มน้ำได้มากกว่าผืนดินธรรมดา  5 - 7 เท่า  ถ้าฝนตกหนักไม่เกิน 280 มิลลิเมตรต่อชั่วโมง  ดินในป่าจะดูดซับน้ำไว้ได้ทั้งหมด  แต่ถ้าฝนตกบนผิวดินธรรมดาเพียง 60 - 80 มิลลิเมตรเท่านั้น น้ำก็ไหลบ่าแล้ว..."

หรือคนไทยจะต้องหวนกลับไปสร้างบ้านเรือนอาศัยยกพื้นสูง มีใต้ถุน อย่างเรือนไทยสมัยก่อน เพื่อพักเรือไว้ใช้ในยามหน้าน้ำหลาก เพื่อเป็นการปรับตัวเข้าหาธรรมชาติ อีกครั้ง..

ขอบคุณข้อมูลอ้างอิงจาก



และขอบคุณภาพจากอินเตอร์เนตและเนชั่น
และ
http://hilight.kapook.com/view/24829



ไม่มีความคิดเห็น: