วันพฤหัสบดีที่ 27 ตุลาคม พ.ศ. 2554

ช้างกับราชประเพณีไทย


ช้าง เป็นหนึ่งในสัตว์ใหญ่และมากด้วยอำนาจของสัตว์ป่า ปัจจุบันปริมาณป่าในประเทศไทยได้ลดน้อยลง ช้างไม่มีที่อยู่อาศัย ขาดอาหาร คนล่าช้างมาเลี้ยงเพื่อฝึกใช้งานหาเลี้ยงชีพให้คนอยู่รอดแต่ไม่คำนึงถึงหัวใจของช้าง บ้างก็ใช้มันอย่างหนักและทารุณ เมื่อคนอยู่บ้านป่าไม่ได้ก็นำช้างมาอยู่ป่าคอนกรีตเดินย่ำบนถนนอันระอุด้วยความร้อน แม้ช้างตัวใหญ่เนื้อหนังมังสาสากและหนา แต่ผู้เขียนขอคิดแทนพวกมันว่า..เจ็บปวดไม่เบาทีเดียว

ตั้งแต่สมัยพุทธกาลคนผูกพันกับช้าง และเรื่อยมาจนถึงปัจจุบันทั้งผูกพันโดยธรรมชาติ โดยประเพณีวัฒนธรรมเก่าแก่ และโดยความฉลาดแสนรู้ของช้างตลอดจนการฝึกช้างในศึกสงคราม
การถือกำเนิดของช้างมีที่มาหลากหลายตำราซึ่งบางตำราว่าพระจันทร์ทรงแปลงช้างเอราวัณเป็นราชรถและใช้ม้าเทียมลาก การที่พระจันทร์ทรงช้างเอราวัณเป็นสัญลักษณ์แห่งเกียรติยศของพระราชาบดี ดังนั้น กษัตริย์จึงโปรดจะประทับช้างเป็นพาหนะทั้งในกองทัพและในกระบวนแห่ไปในราชพิธีต่างๆ

ในรัชกาลที่๔ แห่งราชวงศ์จักรี ช้างต้น จะหมายถึงช้างเผือกเป็นช้างสำคัญ ที่ปรากฎตามหลักตำราคชลักษณ์ซึ่งเป็นตำราเก่าแก่หลายร้อยปีที่นำมาจากอินเดียสู่ราชสำนักไทย
ประเพณีดั้งเดิมเชื่อว่าพระมหากษัตริย์องค์ใดได้พบช้างเผือกเป็นจำนวนมากแสดงว่าพระมหากษัตริย์พระองค์นั้นทรงถึงพร้อมด้วยบุญญาธิการและมีบารมีมาก

ลักษณะช้างสำคัญตามตำราคชลักษณ์ ๗ ประการ
.    ตาขาว
.    เพดานปากขาว
.    เล็บขาว
.    ขนขาว
.    พื้นหนังขาวหรือสีอ่อนๆ ออกแดงคล้ายหม้อใหม่
.    ขนหางขาว
.    อัณฑโกสีขาว หรือสีคล้ายหม้อใหม่

การจัดหาช้างเป็นงานของหลวงที่เรียกว่า..กรมช้างหรือคชบาล เพราะถือว่าช้างเป็นทรัพยากรที่สำคัญของแผ่นดิน 
เป็นยุทธปัจจัยสำคัญ
ในสมัยอยุธยานั้น ช้างผือกที่ได้รับพระราชทานนามแล้วสามารถบอกได้ว่าเป็นเพศใด ถ้าเป็นช้างพลาย ขึ้นต้นด้วยพระบรม  หรือพระยาเสวตร ส่วนในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์นั้นช้างพลายขึ้นต้นด้วย พระเศวต และถ้าเป็นช้างพัง สมัยอยุธยา ขึ้นต้นด้วย พระเทพ และพระอินทร์ ส่วนในกรุงรัตนโกสินทร์ จะขึ้นต้นด้วยพระศร พระเทพหรือพระวิมลรัตนา และลงท้าย กิริณี

ถือกันมาแต่สมัยโบราณว่า ช้างเผือกถือว่ามีศักดิ์สูงเทียบชั้นเจ้าฟ้า และสัตว์ที่นิยมนำมาเลี้ยงคู่กับช้างเผือก มี ๒ ชนิด คือลิงเผือกและกาเผือก ถือกันว่าเป็นสัตว์คู่บุญของช้างเผือก จะช่วยป้องกันสิ่งอวมงคลที่จะมาสู่ช้างเผือกได้ และหากมีเหตุใดๆ เกิดขึ้นกับช้างเผือก จะเชื่อกันว่าเป็นลางร้าย
 
     ช้างเผือกที่ได้รับการขึ้นระวางเป็นช้างหลวงส่วนพระองค์พระมหากษัตริย์ จะเรียกกันว่าช้างต้นซึ่งสมัยก่อน ช้างต้นมี ๓ ประเภทคือ
     . ช้างศึกที่ใช้ออกรบ
     . ช้างสำคัญที่มีลักษณะเป็นมงคลตามตำราคชลักษณ์แต่ไม่สมบูรณ์ทุกส่วน
     . ช้างเผือกที่มีลักษณะถูกต้องตามตำราคชลักษณ์ทุกประการ
และจากที่ปัจจุบัน ไม่มีศึกสงคราม ทำให้ความต้องการใช้ช้างศึกเพื่อการสงครามไม่มี ช้างต้นในยุคปัจจุบัน จึงหมายถึงช้างเผือกที่มีลักษณะอันเป็นมงคลนั่นเอง

รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๙ นี้ จวบจนถึงปัจจุบัน มีการพบช้างเผือก ๒๑ ช้าง
ปัจจุบันเหลือ ๑๑ ช้าง ดังนี้
 
(ขอบคุณภาพจากอินเตอร์เนต)

§  พระเศวตอดุลยเดชพาหน
ชื่อเต็มคือ พระเศวตอดุลยเดชพาหน ภูมิพลนวนาถบารมี ทุติยเศวตกรีกมุทพรรโณภาส บรมกมลาสนวิสุทธวงศ์ สรรพมงคลลักษณคเชนทรชาติ สยามราษฎรสวัสดิ ประสิทธิ์รัตนกุญชรนิมิตบุญญาธิการ ปรมินทรพิตรสารศักดิเลิศฟ้า เป็น ช้างพลายเผือกโท ลูกเถื่อนตระกูล "พรหมพงศ์" จำพวกอัฏทิศ ชื่อว่า กมุท คล้องได้เมื่อปี ๒๔๙๙ ที่เมือง "กระบี่"โดยมีพล..บัญญัติ เทพหัสดิน ณ อยุธยา ประธานกรรมการองค์การสวนสัตว์แห่งประเทศไทย มีการสมโภชช้างนี้เมื่อวันที่ ๑๔ กุมภาพันธ์ พ.. ๒๕๐๑ และน้อมเกล้าฯ ถวายขึ้นระวางโรงช้างต้น พระราชวังดุสิต เมื่อวันที่ ๑๑ พ.. ๒๕๐๒ เริ่มยืนโรง ณ โรงช้างต้น สวนจิตรลดา ในปี ๒๕๑๙  พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เชิญพระเศวต อดุลยเดชพาหนฯ จากโรงช้างต้น สวนจิตรลดา พระราชวังดุสิต มายืนโรง ณ โรงช้างต้น วังไกลกังวล อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เมื่อเดือนมีนาคม พ.. ๒๕๔๗

§  พระเศวตวรรัตนกรี
ลูกช้างบ้านของราษฎรอำเภอสันกำแพง จงหวัดเชียงใหม่ ซึ่งเมื่อผ่านการพิจารณาตรวจคชลักษณ์จากผู้ชำนาญของสำนักพระราชวังแล้ว พบว่า สมบูรณ์ด้วยศุภมงคลต้องตามตำราพระคชลักษณ์ โดยอยู่ในตระกูลวิษณุพงศ์ จำพวกอัฎฐคช ชื่อ "ดามพหัสดินทร์" สมควรขึ้นระวางเป็นพระยาช้างต้นตามราชประเพณี โดยช้างสำคัญนี้เกิดที่นครเชียงใหม่ ซึ่งได้ทรงสร้างพระตำหนักภูพิงคราชนิเวศน์ไว้เป็นที่ประทับ เสมอด้วยมีพระราชฐานประจำในนครนี้ ปัจจุบัน ล้มแล้

§  พระเศวตสุรคชาธาร
ลูกช้างพลายพลัดแม่ที่ราษฎรอำเภอรามัญ จังหวัดยะลา ได้นำมาเลี้ยงไว้ ก่อนจะพบว่ามีลักษณะมงคล ซึ่งเมื่อทางสำนักพระราชวังได้ตรวจสอบ พบว่าลูกช้างนั้นมีมงคลลักษณะถูกต้องตามคชลักษณศาสตร์ อยู่ในพรหมพงศ์ ตระกูลช้าง ๑๐ หมู่ ชื่อดามพหัตถีพระเศวตสุรคชาธารนับเป็นช้างต้นช้างที่สามในรัชกาลนี้ และยังเคยเป็นพระสหายของสมเด็จพระเทพฯ สมัยยังทรงพระเยาว์ เคยมีกล่าวถึงในบทพระราชนิพนธ์ของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ ว่า เมื่อมีการเสด็จฯ แปรพระราชฐานไปยังวังไกลกังวล หัวหิน คุณพระเศวตสุรคชาธารก็ได้โดยเสด็จฯ ด้วย ปัจจุบัน ล้มลงแล้ว

§  พระศรีเศวตศุภลักษณ์
ช้างพังเผือก ลูกเถื่อน คล้องมาได้จากจังหวัดฉะเชิงเทรา เป็นช้างตระกูลวิษณุพงศ์ จำพวกอัฏฐคช ชื่อดามพหัสดินทร์ ปัจจุบันกรมป่าไม้เป็นผู้ดูแล

§  พระเศวตภาสุรคเชนทร์
เดิมชื่อภาศรี เป็นช้างพลายเผือก ลูกเถื่อน ของราษฎรในเขตอำเภอท่ายาง เพชรบุรี เมื่อมีการตรวจสอบพบว่ามีคชลักษณ์ถูกต้องตามตำราคชลักษณศาสตร์ อยู่ในตระกูลวิษณุพงศ์ จำพวกอัฎฐคช ชื่อ "ดามพหัสดินทร์" จึงได้ขึ้นระวางสมโภชเป็นช้างสำคัญพร้อมกันทีเดียวถึง ๓ เชือก คือพร้อมกับพระบรมนขทัศ และพระเทพวัชรกิริณี ปัจจุบันอายุ ๓๐ ปี อยู่ในความดูแลของศูนย์อนุรักษ์ช้างไทย จังหวัดลำปาง

§  พระเศวตสุทธวิลาส
ช้างพลายเผือกลูกเถื่อน คล้องมาได้จากจังหวัดกาญจนบุรี เป็นช้างตระกูลวิษณุพงศ์ จำพวกอัฏฐคช ชื่อดามพหัสดินทร์ ปัจจุบันอายุเกือบ ๓๐ ปี อยู่ในความดูแลของศูนย์อนุรักษ์ช้างไทย จังหวัดลำปาง

§  พระเทพวัชรกิริณี
เดิมชื่อพังขวัญตา เป็นลูกช้างหลงโขลง ชาวบ้านที่ไปตัดไม้ในเขตหัวหินไปพบเข้า จึงจับมาส่งให้กำนันตำบลเขาย้อย ก่อนจะนำไปถวายวัดและเลี้ยงมาคู่กันกับพลายดาวรุ่ง ต่อมาเมื่อมีการตรวจสอบพบว่า พังขวัญตาเป็นช้างสำคัญมีมงคลคชลักษณ์ถูกต้องตามตำราคชลักษณศาสตร์ อยู่ในตระกูลวิษณุพงศ์ จำพวกอัฎฐคช ชื่อดามพหัสดินทร์ ซึ่งตำราระบุว่าสมควรขึ้นระวางสมโภชเป็นพระราชพาหนะ เพื่อความเป็นสิริมงคลของประเทศชาติ

§  พระวิมลรัตนกิริณี
ช้างพังเผือก ลูกเถื่อน คล้องมาจากจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เป็นช้างตระกูลพรหมพงศ์ จำพวกอัฏฐทิศ ชื่อกมุท อายุ ๒๙ ปี ปัจจุบันอยู่ที่โรงช้างต้น พระราชวังภูพานราชนิเวศน์ จังหวัดสกลนคร


§  พระศรีนรารัฐราชกิริณี
ช้างพังเผือก ลูกเถื่อน คล้องได้จากจังหวัดนราธิวาส พลัดกับแม่บนเทือกเขากือชา เป็นช้างตระกูลพรหมพงศ์ พวกอัฏฐทิศ ชื่ออัญชัน อายุ ๒๙ ปี ปัจจุบันอยู่ที่โรงช้างต้น พระราชวังภูพานราชนิเวศน์ จังหวัดสกลนคร

§  พระบรมนขทัศ
เดิมชื่อพลายดาวรุ่ง พบโดยราษฎรที่อำเภอปราณบุรี มีลักษณะพิเศษคือเล็บครบ เมื่อสำนักพระราชวังส่งผู้ชำนาญไปตรวจคชลักษณ์ พบว่า พลายดาวรุ่งเป็นช้างสำคัญที่หาได้ยาก เกิดในตระกูล "วิษณุพงศ์" จำพวก "อัฎฐคช" ชื่อ "ครบกระจอก" ซึ่งตำราคชลักษณศาสตร์นิยมว่า อุบัติมาเพื่อบุญญาธิการของพระมหากษัตริยาธิราช ควรแก่การสมโภชขึ้นเป็นพระราชพาหนะ จะบังเกิดสวัสดิมงคลแก่ประชาราษฎร์

ปัจจุบันสภาพแวดล้อมเปลี่ยนไป พื้นที่ป่าลดน้อยลง ช้างเผือกหาได้ยากยิ่งนัก แต่ความสำคัญของช้างเผือกมิได้ลดน้อยลง ดังนั้นเมื่อพบช้างสำคัญเข้าสู่พระบรมโพธิสมภารประชาราษฎร์ก็แซ่ซ้องสรรเสริญด้วยความโสมนัสยินดีและน้อมนำให้มีการประกอบพระราชพิธีและขึ้นระวางสมโภชเป็นพระยาช้างต้นอย่างยิ่งใหญ่ตระการตา

ถ้าเพียงคนไทยรักษาป่า รักษาสัตว์ ช่วยกันอนุรักษ์สิ่งมีค่า ทรัพยากรอันล้ำค่าของคนไทยไว้ ย่อมเป็นการรักษาทุกสรรพสิ่งในแผ่นดินทองนี้ไว้ชั่วลูกชั่วหลานทีเดียว

ขอบคุณข้อมูลจากหนังสือ
ช้างราชพาหนะ ในโครงการสืบสานมรดกวัฒนธรรมไทย
และ
ขอบคุณภาพจากอินเตอร์เนต

ไม่มีความคิดเห็น: