วันจันทร์ที่ 14 พฤศจิกายน พ.ศ. 2554

คุ้งกระเบน ป่าชายเลนในโครงการพระราชดำริ จันทบุรี


เมื่อคิดจะไปเที่ยวที่ไหนสักแห่งหนึ่งน้อยครั้งนักที่เราจะนึกถึงป่าชายเลน 

และหลายปีก่อนเพื่อนๆกลุ่มชวนกันเที่ยว..ชวนกันไปเที่ยวอุทยานหมู่เกาะชุมพร จังหวัดชุมพร ท่ามกลางมรสุมที่คนบนฝั่งเตือนและบ่นกันแล้วบ่นกันอีก แต่ความตั้งใจไม่เลิกรา ยิ่งเมื่อออกกลางทะเลท้องฟ้าสดใส ยิ่งทำให้เราตื่นเต้นลืมความกลัวโดยสิ้นเชิง 
หลังจากดำน้ำดูปะการังสวยงามกันอย่างสะใจ คุ้มกับเวลา ๒ คืน ๓ วัน ยังได้มาเดินชมบรรยากาศธรรมชาติศึกษาที่ร่มรื่นและสวยงามของป่าชายเลนพร้อมกับศึกษาความเป็นธรรมชาติของป่าโกงกาง แสม ลำพู และการขยายพันธ์ รวมทั้งสัตว์ทะเลที่พึ่งพาอาศัยธรรมชาติอยู่ร่วมกันอย่ร่วมกันอย่างกลมกลืน 


เพราะเราคุ้นเคยแต่การคิดว่าหนาวนี้ไปภูที่ไหนดี หรือจะไปปีนดอยใดให้สะใจ  หรือวางแผนไปถึงปีหน้าเขาที่ไหนน่าไปและต้องไปให้ได้

แต่คราวนี้...ตั้งใจไป จังหวัดจันทบุรี เพราะมีงานสละโสดของหัวหน้าทีมเที่ยวของกลุ่ม   
เวลานัดหมายออกจากกรุงเทพฯตอนตี4.30 น.เพราะเผื่อสาย เป็นความตั้งใจของเพื่อนๆ ที่เคยชิน 
กับการนอนตื่นสายในวันหยุด เมื่อต้องตื่นเช้ามากขนาดนั้นดูเหมือนจะเป็นเรื่องใหญ่แต่เราก็เดินทางตอนเช้าได้อย่างอัศจรรย์ใจ 

เสร็จงานพิธีการตามประเพณีไทยในบ่ายวันนั้น เราเข้าที่พักเพื่อรองานงานเลี้ยงตอนเย็น... คงเพราะกลุ่มเราเคยแต่นอนเต๊นท์ นอนเปล ตามป่าตามเขา  เจ้าบ่าวงานนี้เลยเตรียมที่พักเป็นบ้านพัก
ในอุทยานน้ำตกพลิ้ว ซึ่งใกล้ชิดธรรมชาติ นอนฟังเสียงน้ำตกกันอย่างสุนทรีย์  

 วันรุ่งขึ้นหลังจากอิ่มท้องจากอาหารทะเลมื้อกลางวันแล้วเราคิดวางแผนกันว่าจะแวะเที่ยวที่ไหนก่อนดีเพื่อไม่ให้เสียเที่ยวตามประสาคนรักธรรมชาติ ก่อนเดินทางเข้ากรุงเทพฯ  

 ในที่สุด คุ้งกระเบน อ่าวเจ้าหลาว เป็นตัวเลือกไม่มีใครค้าน 

อ่าวคุ้งกระเบน หรือศูนย์การศึกษาพัฒนาอ่าวคุ้งกระเบน  
โครงการพัฒนาป่าชายเลนเสื่อมโทรมตามพระราชดำริของ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ 

แต่เดิมนั้น อ่าวคุ้งกระเบน เป็นป่าชายเลนเสื่อมโทรม จนกระทั่งเมื่อ 28 ธันวาคม พศ.2524 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยุ่หัวฯทรง พระราชดำรัสต่อผู้ว่าราชการจังหวัด..ให้พิจารณาพื้นที่เหมาะสม
 จัดทำโครงการพัฒนา ด้านอาชีพการประมงและการเกษตรในเขตพื้นที่ชายฝั่งทะเลและจังหวัดจันทบุรี  
ซึ่งในคราวนั้นพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้พระราชทานเงินที่ราษฎรจังหวัดจันทบุรีทูลเกล้าฯถวายเป็นทุนเริ่มดำเนินการ 

ดังนั้นในปี พ.ศ. 2525 จังหวัดจันทบุรีได้จัดตั้ง ศูนย์ศึกษาการพัฒนาอ่าวคุ้งกระเบน ต.คลองขุด อ.ท่าใหม่ จ.จันทบุรี เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนในพื้นที่  

และพื้นที่บริเวณใกล้เคียง เป็นสถานที่ฟื้นฟูดูแลสภาพแวดล้อมของชายฝั่งทะเล ให้มีสภาพสมบูรณ์ต่อมาได้พัฒนาเป็นสถานที่ท่องเที่ยวและได้รับรางวัลอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว ปี 2545 ประเภทองค์กรส่งเสริมและพัฒนาการท่องเที่ยว 



อ่าวคุ้งกระเบน ป่าชายเลนที่อุดมสมบูรณ์ และผู้มาเยี่ยมเยือนได้สนุกสนานเพลิดเพลิน  กับการเดินชื่นชมบรรยากาศสัมผัสเรียนรู้กับพืชพรรณป่าชายเลนที่มีมานานกว่า 200 ปี และทั้งที่ฟื้นฟูขึ้นมาใหม่ ซึ่งต้องใช้เวลาเดินทอดน่องเรื่อยเปื่อยไปตามสะพานไม้ทอดยาวไกลไป จนสิ้นสุดระยะทาง 1600 เมตร เพื่อสูดกลิ่นอายความบริสุทธิ์ของอากาศ เย็นสดชื่น และความร่มรื่นตลอดเส้นทาง


นอกจากบรรยากาศร่มรื่น และทิวทัศน์สวยงามระหว่างทางเดิน เรายังได้ความรู้เกี่ยวกับชื่่อพันธ์ 
ไม้ของป่าชายเลน ไม่ว่าจะเป็น โกงกาง แสม ประสักดอกแดง ลำพูทะเล และโดยป้ายบอกรายละเอียด  
ไว้ตามต้นไม้ชนิดนั้นอย่างชัดเจน มีศาลาพักระหว่างทางเป็นระยะๆ และให้ความรู้เกี่ยวกับ ป่าชายเลนและธรรมชาติของป่าทุกๆจุดเช่นกัน นอกจากนั้นเรายังสนุกสนานกับการถ่ายรูป เพราะหลายๆมุม สวยงามมากจนอดใจไม่ไหวที่จะเปลี่ยนจากตากล้องมาเป็นนางแบบเสียเอง  

นอกจากนี้ยังมีสัตว์น้ำทะเล..ทั้งปลาตีน ปูก้ามดาบวิ่งเล่นซุกซนกันอย่างสนุกสนาน ชวนให้ผู้มาเยือนรู้สึกเพลิดเพลินใจไปด้วย 
ในอดีตอ่าวคุ้งกระเบนอุดมสมบูรณ์ไปด้วยหญ้าทะเล ดังนั้น จึงเป็นแหล่งที่หลบภัยและวางไข่ ของสัตว์ทะเลหลายชนิด โดยเฉพาะ สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม ที่เรียกว่า พะยูน หรือหมูดูด หรือวัวทะเล 
แต่ปัจจุบัน สัตว์ชนิดนี้สูญพันธ์ไปแล้วเหลือแต่ อนุสรณ์ และตำนานเล่าต่อกันมา


ในพระมหากรุณาธิคุณขององค์สมเด็จพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ชาวจันทบุรีจึงมีอู่ข้าว อู่น้ำ มีลมหายใจที่บริสุทธิ์ เกิดขึ้นอีกแห่งหนึ่งแล้ว

ในความเป็นจริงมนุษย์เราไม่ค่อยตระหนักถึงความสำคัญของธรรมชาติ ไม่สนใจในสิ่งที่พ่อหลวงของแผ่นดินทรงคิด แก้ และปฏิบัติจนกระทั่งได้เห็นผลสำเร็จแล้วอย่างมากมาย แต่มุ่งให้ความสำคัญกับบริโภคนิยม วัตถุนิยม หลงติดอยู่กับความศิวิไลซ์ จนเกินควรและนำความเสียหายมาให้บ้านเมืองมานับครั้งไม่ถ้วน


ศ. ดร. สนิท แก้วอักษร นักวิชาการชาวไทยที่ศึกษาวิจัยป่าชายเลน 
ได้ให้นิยามความสำคัญของป่าชายเลนไว้มากมาย โดยเปรียบป่าชายเลนว่าเป็นเสมือน "บ้าน" 
ของพันธุ์สัตว์น้ำและพันธุ์พืชนานาชนิด ที่ใช้เป็นแหล่งเพาะพันธุ์และเจริญเติบโต เป็นเสมือน "ครัว" 
ซึ่งได้ธาตุอาหารหล่อเลี้ยงชีวิตพืชและสัตว์จากเศษใบไม้ที่หลุดร่วงสลายเป็นอาหารในดิน เป็นเสมือน "โรงบำบัดน้ำเสีย" 
เนื่องจากรากและลำต้นของพันธุ์ไม้ชนิดต่างๆ เป็นด่านกรองสิ่งปฏิกูลในน้ำก่อนที่จะไหลลงสู่ทะเล
 เป็นเสมือน "โรงยา" 
ด้วยพืชหลายชนิดมีสรรพคุณทางสมุนไพรบำบัดอาการของโรคต่างๆ ได้ดี เป็นเสมือน "ปอด"
เนื่องจากสภาพธรรมชาติที่ร่มรื่น ช่วยให้อากาศบริเวณชายฝั่งทะเลสะอาด บริสุทธิ์ เป็นเสมือน "สะพาน" ที่เชื่อมต่อระหว่างพื้นที่ชายฝั่งและทะเล และที่สำคัญ คือ เป็นเสมือน "อู่ข้าวอู่น้ำ"
ของประชาชนที่อาศัยอยู่ตามแนวชายฝั่งได้ทำประมง และใช้ประโยชน์จาพืชนานาพันธุ์เพื่อการดำรงชีวิต ป่าชายเลนจึงเปรียบเสมือนลมหายใจของสิ่งมีชีวิตที่ต้องดำรงอยู่อย่างพึ่งพาอาศัยกันอย่างสมดุลตามธรรมชาติ แต่ในระยะหลายสิบปีที่ป่านมา สภาพป่าชายเลนตามแนวชายฝั่งด้านอ่าวไทยและด้านทะเลอันดามันถูกทำลายไปมาก ซึ่งหากปล่อยปละละเลยกันต่อไป อาจเกิดผลกระทบที่จะสร้างความเสียหายต่อสมดุลทางระบบนิเวศธรรมชาติมากเกินกว่าจะแก้ไขได้ทัน และป่าชายเลนอาจกลายเป็นเพียงภาพในอดีตที่เคยปรากฏบนผืนแผ่นดินไทยเท่านั้น

ข้อมูลอ้างอิง

http://www.rspg.or.th/articles/mangrove/mangrove_1.htm




ไม่มีความคิดเห็น: